“เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธ.) เป็นประธานเปิดงาน อนุโมทนา สสส.และสปสช. หนุน มจรและมมร จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ หวังพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์เข้าถึงกองทุนสร้างพระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข”

               วานนี้ (15ก.ค.63) ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา พระวินัยโมลี วิ. (คำปอน สุทธิญาโณ) เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธ.) เป็นประธานเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ และพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์เข้าถึงกองทุนสนับสนุนโดย สสส. และสปสช. การนี้มีพระอุดมธีรคุณ เจ้าคณะอำเภอปากช่อง(ธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาวรวิหาร ถวายรายงานหลังจากนั้นพระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พระเทพเวที,รศ.ดร. ผู้รักการแทนเจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร และประธานคณะทำงานโครงการฯ บรรยายพิเศษ หัวข้อ เรื่อง “การพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธตามแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา”ในการนี้มี นายสายชล พิมพ์เกาะ รองผู้อำนวยการ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ร่วมเป็นเกียรติ และกล่าวต้อนรับพร้อมปวารณาตัวสนับสนุนงานนี้อย่างเต็มที่ โดยท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของเครือข่ายพระสงฆ์และประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพว่าเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มการรับรู้ เข้าถึงและใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลังจากนั้น ได้มีการเสวนาพูดคุยถึงความคาดหวังและความตั้งใจที่จะร่วมดำเนินงาน “ศูนย์ประสานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ” ที่ได้มาตรฐาน แนวทางและกิจกรรมที่ศูนย์ทำได้ คุณสมบัติของพระอาสาสมัครประจำวัด (พระ อสว.)ตลอดจนการเชื่อมโยงกับกลไกคุ้มครองสิทธิในระดับพื้นที่ และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับพื้นที่และท้องถิ่น (กปท.) โดยมีคุณมีนา ดวงราษี ผู้จัดการหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นฯ ต้นแบบ และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้นำกระบวนการในช่วงบ่าย มีกิจกรรมเสวนา ประเด็นสำคัญเรื่อง โอกาสและช่องทางศูนย์ประสานงานหลักประกันวิถีพุทธกับการเข้าถึงกองทุน กปท. ดำเนินรายการ โดย พระครูพิพิธสุตาทร,ดร.อาจารย์ประจำ มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ และมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ประกอบด้วย คณะสงฆ์ที่เป็นพระคิลานุปัฏฐากในระดับพื้นที่ และทีม พชอ.จาก อ.ธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด และพระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มจร

อย่างไรก็ตาม ผลของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งนี้ คณะสงฆ์และอาสาสมัครกลุ่มเป้าหมายจากพื้นที่อิสานตอนบน มากกว่า 30 รูป ที่เข้ามีส่วนร่วมเป็นผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ ทั้งที่ตั้งอยู่ใน วัด โรงเรียนพระปริยัติธรรม และสถาบันการศึกษาสงฆ์ จากสปสช.เขต 7 ขอนแก่น/เขต 8 อุดรธานี / เขต 9 นครราชสีมา พบว่า กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบหลักประกันฯ และได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น หลังจากนี้ เชื่อว่าศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธในฐานะกลไกในระดับพื้นที่ที่มีพระสงฆ์เป็นแกนนำสำคัญจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรสุขภาวะ สู่การสร้างสังคมสุขภาวะภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ต่อไป

 

 

 

ที่มา : คณะทำงานโครงการฯ