พิธีวางพวงมาลาและถวายบังคม เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ “วันปิยมหาราช”
พระองค์ผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ราษฎรเคารพรักเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกประการในด้านการปกครอง ราษฎรมีความร่มเย็นเป็นสุข จึงได้ถวายพระราชสมัญญาว่า พระปิยมหาราช พระบรมวงศานุวงศ์ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างพระบรมรูปทรงม้าเป็นพระบรมราชานุสรณ์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต ขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชสมบัติยั่งยืนนานถึง 40 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2451
ครั้นวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และอาณาประชาราษฎร์ เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งถึงวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวาร ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม (เมื่อพระที่นั่งอนันตสมาคมใช้เป็นรัฐสภา พระราชพิธีจึงย้ายมาทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย)
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา และจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสรณ์ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถเสด็จสวรรคตและถวายพระเพลิงพระศพแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญพระโกศพระอัฐิออกประดิษฐานข้างเคียงพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมในพระราชพิธี พร้อมด้วยพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญพระโกศพระอัฐิและพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ประดิษฐานร่วมในพระราชพิธีด้วย
ที่มา หน่วยราชการในพระองค์ / สาระน่ารู้
พระบรมราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับพระสงฆ์ นอกจากการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ยังได้ทรงตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ทั้งฝ่ายมหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคแก่สงฆ์ทั้งสองฝ่าย พระองค์ทรงสถาปนา “มหา มกุฏราชวิทยาลัย” ขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร สำหรับเป็นที่ศึกษาของสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระราชบิดา ส่วนอีกสถานหนึ่ง เป็นที่เล่าเรียนของสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งที่วัดมหาธาตุ เรียกว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระองค์เอง สถาบันการศึกษาทั้งสองแห่งดังกล่าว
เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ประกอบพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ “วันปิยมหาราช” ได้ประกอบพิธีทำบุญเนื่องในวันปิยมหาราชรำลึก เป็นพิธีสงฆ์ โดย พระพรหมวัชรธีราจารย์, ศ.ดร. อธิการบดี ได้มอบหมายให้ พระราชวัชรสารบัณฑิต, รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ปฏิบัติหน้าที่แทน เป็นประธานสงฆ์ในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ศาสนพิธีกรอาราธนาศีล พระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ และพระสงฆ์อนุโมทนา
การจัดงานวันปิยมหาราชรำลึก นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต (ส่วนกลาง) อีกทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้แทนจากส่วนงานภายนอก ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ แพทย์ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ร่วมพิธีวางพวงมาลา หน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ณ มณฑลพิธีด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์พระไตรปิฎก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การนี้ กองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี โดย พระธรรมวชิโรดม รศ.ดร., รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ได้มอบหมายให้ พระมหาราชัน จิตฺตปาโล ดร., ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต เข้าร่วมอธิษฐานจิตอุทิศถวายพระราชกุศล และ นายประเสริฐ คำนวล รองผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต และบุคลากรฝ่ายคฤหัสถ์ของกองกิจการนิสิต เป็นตัวแทนเข้าร่วมพิธีถวายพวงมาลา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ