มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ผู้แทนคณะสงฆ์ไทย ปฏิบัติศาสนกิจ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระธาตุเขี้ยวแก้ว)

 

คณะสงฆ์ไทยปฏิบัติศาสนกิจ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๒ – ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
            การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว  โดยได้รับมอบหมายจากคณะรัฐบาล และมหาเถรสมาคม มีคณะสงฆ์ ๑๐ รูป ตามมติมหาเถรสมาคม  เนื่องในโอกาสการครบรอบ ๕๐ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี ๒๕๖๘ รัฐบาลจีนให้รัฐบาลไทยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาสู่ประเทศไทย ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๗
     และจะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะ ระหว่างวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
และจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) กลับสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
──────── ❖ ────────
พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ คือพระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งตามลักขณสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์”
❖ พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด ๔ องค์
• พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
• พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน)
• พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ แล้วเชื่อว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง
• พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค
เป็นที่เชื่อกันว่า บนโลกมนุษย์ของเรานี้ มีพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ ๒ องค์ นอกจากนี้ พระเขี้ยวแก้วยังจัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น พุทธศาสนิกชนจึงมีความศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระเขี้ยวแก้วเป็นอย่างมาก
──────── ❖ ────────

 

ขสมก. และกรมเจ้าท่า อำนวยความสะดวกประชาชน
ที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)
📌 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
📆 วันพฤหัสบดีที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ ถึง ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
🚌 จัดเดินรถโดยสารธรรมดาให้บริการประชาชน
จำนวน ๒ เส้นทาง (จอดรับ–ส่งทุกป้าย)
๑. เส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – สนามหลวง (จอดส่ง ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร)
๒. เส้นทางวงเวียนใหญ่ – สนามหลวง (จอดส่ง ตรงข้ามศาลฎีกา)
โดย ท่าต้นทางเที่ยวแรก เวลา ๐๗.๐๐ น. 🕖
เที่ยวสุดท้าย เวลา ๑๙.๓๐ น. 🕢
ท่าปลายทาง เที่ยวสุดท้าย เวลา ๒๐.๓๐ น. 🕣 หรือจนกว่าผู้มาร่วมงานหมดพื้นที่
โดยจะมีรถบริการทุกๆ ๒๐ นาที
🛥️ กรมเจ้าท่า จัดเรือข้ามฟาก จากฝั่งธนบุรี – ฝั่งพระนคร ในเส้นทางท่าเรือวัดระฆัง,ท่าเรือวัดอรุณฯ,ท่าเรือท่าช้าง ตั้งแต่เวลา๐๗.๐๐ น. เป็นต้นไป