เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา
เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๘ ความว่า
“ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ควรที่สาธุชนจักได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น“พระรัตนตรัย” ซึ่งเป็นสรณะนำทางชีวิตของพุทธบริษัท ให้มุ่งหน้าดำเนินไปสู่หนทางดับเพลิงทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง
“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นปฐมเทศนานั้น คือวิถีทางดับทุกข์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่ามกลางสถานการณ์ทางเทคโนโลยีการสื่อสารอันรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ความสงบสุขในโลกกลับถดถอยเสื่อมทรามลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะทุกคนต้องจำทนอยู่ในวังวนแห่งความรู้สึกชิงชัง ก้าวร้าว และตึงเครียด โดยเหตุที่เสพคุ้นกับข้อมูลเท็จ การส่อเสียด คำหยาบคาย และความเพ้อเจ้อ จนกระทบกระเทือนสุขภาพจิต ท่านทั้งหลายจึงควรคิดหันมาศึกษาพิจารณาอริยมรรค แล้วมุ่งมั่นดำเนินจริยาไปบนหนทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุประการหนึ่ง กล่าวคือ การปลูกฝังสั่งสมให้ตนเอง และบรรดาสมาชิกในสังคม มีค่านิยมในการครอง “สัมมาวาจา” ซึ่งหมายถึง “การเจรจาชอบ” ไว้ให้ได้อย่างมั่นคง ขอให้ช่วยกันเพิ่มพูนสติยับยั้งการสื่อสารของตนและคนรอบข้าง อย่าพลั้งเผลอหรือสนุกคะนองในการใช้มิจฉาวาจา ขอจงรักษาคำจริงและความจริงไว้ทุกเมื่อ ขอให้สำนึกไว้เสมอว่า เมื่อใดที่บุคคลใดพูดหรือเขียนคำเท็จ คำส่อเสียด คำหยาบคาย และคำเพ้อเจ้อ ไม่ว่าในช่องทางใด หรือวาระโอกาสใด เมื่อนั้นคือการอวดความทรุดโทรมต่ำช้าที่หยั่งรากอยู่ในความสืบเนื่องแห่งอุปนิสัยของบุคคลนั้น อันนับว่าน่าอับอาย มากกว่าที่น่าจะนำมาอวดแสดงกัน
วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังอาจเตือนใจให้ทุกท่าน ตระหนักแน่วแน่ในอริยมรรคข้อ “สัมมาวาจา” เพราะฉะนั้น หากท่านประสงค์ให้สังคมไทยร่มเย็นเป็นสุข จงหมั่นเพียรศึกษาอบรมและปฏิบัติธรรมะ มีน้ำใจกล้าหาญที่จะละทิ้งมิจฉาวาจา เพื่อให้ทุกครอบครัว และทุกชุมชน เป็นสถานที่ปลอดจากการหลอกลวง การวิวาทบาดหมาง และความตึงเครียด นับเป็นการเกื้อกูลตนเอง และสรรพชีวิตทั่วหน้า ให้สามารถพ้นจากภยันตรายได้สมตามความมุ่งมาดปรารถนาอย่างแท้จริง อนึ่ง ขอความเจริญงอกงามในพระสัทธรรม จงพลันบังเกิดมีแด่สาธุชนผู้มีวาจาชอบ โดยทั่วหน้ากัน เทอญ.”