มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ตรวจเยี่ยมและให้โอวาทการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนิสิตคณะครุศาสตร์

 

 

❝รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ตรวจเยี่ยมและให้โอวาทการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนิสิตคณะครุศาสตร์ ❞
วันนี้ วันอาทิตย์ ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๕ น.
          พระธรรมวชิโรดม, รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต เมตตาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และโยคีนิสิตผู้ถือวัตรปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน คณะครุศาสตร์ ภาคภาษาไทย ในโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของนิสิตคณะครุศาสตร์​ ประจำปี ๒๕๖๗ ณ อาคารหอสมุดนานาชาติ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
              มี พระมหาฉัตรชัย ธมฺมวรเมธี, ดร. เลขานุการสำนักงานคณบดีคณะครุศาสตร์ พร้อม รศ.ดร.สุทธิพงษ์ ศรีวิชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาบริหารการศึกษาคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานน้อมถวายการต้อนรับ
             โอกาสนี้ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ได้มอบธรรมโอวาทปรารภข้อคิดความเห็นเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการประคับประคองสติสัมปชัญญะในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นภาคภาษาไทยและอังกฤษ โดยปรารภถึง ❝คาถาธรรม ❞ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปสนฺเนส ภาสติ วา กโรติ วา ตโต นํ สุขมเนฺวติ ฉายาว อนุปายินี ” ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัว ” การปฏิบัติเพื่อความเจริญ ทุกท่านต้องมีสมบัติ ๔ ประการ มีคติสมบัติ อุปธิสมบัติ กาลสมบัติ เทศะ ปโยคสมบัติ จบที่ไตรสิกขา “นวังคสัตถุศาสน์”หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดซึ่งแบ่งเป็นส่วนย่อยตามลักษณะที่เหมือนกันได้ ๙ อย่าง คือ สุตตะ ได้แก่ พระสูตรต่าง ๆ และวินัย เคยยะ ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาผสม เวยยากรณะ ได้แก่ ข้อความร้อยแก้วล้วน ๆ เช่น อภิธรรมปิฎก คาถา ได้แก่ ข้อความร้อยกรองที่เป็นคาถาล้วน ๆ เช่น ธรรมบท เถรคาถา อุทาน ได้แก่ ข้อความที่เป็นพุทธอุทาน อิติวุตตกะ ได้แก่ ข้อความที่ตรัสอุเทศแล้วแสดงนิเทศจบลงด้วยบทสรุป (นิคม) ชาตกะ ได้แก่ ชาดกทั้งหมด อัพภูติธรรม ได้แก่ พระสูตรว่าด้วยเรื่องอัศจรรย์ต่าง ๆ เวทัลละ ได้แก่ ข้อความที่ถามตอบกันไปมา ดังนั้น นวังคสัตถุศาสน์ จึงหมายถึง พระพุทธพจน์ หรือ พระธรรมวินัย ก็ได้ ดังนั้นพระเจ้าพระสงฆ์จึงมีหน้าที่สำคัญสองประการ คือ ประการแรก ศึกษาพระธรรม (คันถธุระ) ประการที่สอง อบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาธุระ) เป็นเนื้อนาบุญของอุบาสก อุบาสิกา โดยเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในวาระนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกท่านจะได้สั่งสมบุญอบรมคุณธรรมพื้นฐานให้มีขึ้นในตนเอง เข้ากับศาสตร์สำคัญคือ “ปริยัติศาสตร์ ปฏิบัติศาสตร์”โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นทางโพธิปักขิยธรรม ๓๗ โดยเริ่มต้นจากสติปัฏฐาน ๔ ที่ทุกท่านกำลังปฏิบัติอยู่ในเวลานี้ เรียกว่า Learning by doing (ข้าวคลุกกะปิ) ปฏิบัติศาสตร์ นั่นเอง
             การนี้นั้น พระมหาราชัน จิตฺตปาโล, ดร.ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต บุคลากร เจ้าหน้าที่ กองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมถวายการต้อนรับ