เตรียมพร้อม รับ เกณฑ์ทหาร 2568
กำหนดการตรวจเลือกทหาร
- วันที่ 1 เมษายน – 12 เมษายน 2568 เป็นต้นไป จนกว่าการตรวจเลือกฯ จะแล้วเสร็จ ยกเว้น วันที่ 6 เมษายน 2568 (วันจักรี) ให้ตรวจสอบวันอีกครั้ง
กำหนดวันและสถานที่ทำการตรวจเลือกทหารกองเกินของแต่ละภาค
- ภาคกลาง (กองทัพภาคที่ 1) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ชัยนาท, ตราด, นครนายก, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระแก้ว, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี และอ่างทอง
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กองทัพภาคที่ 2) ได้แก่ กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครพนม, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, มุกดาหาร, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สุรินทร์, หน่องคาย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุบลราชธานี และบึงกาฬ
- ภาคเหนือ (กองทัพภาคที่ 3) ได้แก่ กำแพงเพชร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, นครสวรรค์, น่าน, พะเยา, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
- ภาคใต้ (กองทัพภาคที่ 4) ได้แก่ กระบี่, ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, พังงา, พักลุง, ภูเก็ต, ยะลา, ระนอง, สงขลา, สตูล และสุราษฎร์ธานี
ผู้ที่อยู่ในกำหนดที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกฯ
1. ชายไทยที่เกิด พ.ศ. 2547 ซึ่งมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์
2. ชายไทยที่เกิด พ.ศ. 2539 ถึง 2546 ซึ่งมีอายุ 22 – 29 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก หรือผลการตรวจเลือกยังไม่เสร็จสิ้น ไม่ว่ากรณีใดๆ
3. นิสิต นักศึกษา นักเรียน ที่อยู่ระหว่างการศึกษาจะได้รับการผ่อนผันตามกฎกระทรวง
หมายเหตุ
บุคคลดังกล่าวข้างต้น ต้องไปรับหมายเรียกฯ (แบบ สด.35) จากเจ้าหน้าที่สัสดี ณ สำนักงานเขต หรือที่ว่าอำเภอ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนและไปเข้ารับการตรวจเลือก ตามวันเวลา และสถานที่ ที่กำหนดไว้ในหมายเรียกฯ ถ้าไม่ไปรับหมายเรียก ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท) ถ้ารับหมายเรียกแล้วไม่ไปเข้ารับการตรวจเลือก ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
การตรวจเลือกฯ
สิ่งที่ต้องเตรียมไปแสดงต่อคณะกรรมการในวันตรวจเลือก
- ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9)
- หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบสำคัญความเห็นแพทย์และประวัติการรักษา (ถ้ามี)
- ประกาศนียบัตร หรือหลักฐานแสดงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือใบรับรองวิทยฐานะของผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมาย
บุคคลซึ่งจะเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้น ต้องมี
- มีขนาดรอบตัว ตั้งแต่ 76 เซนติเมตรขึ้นไป (ในเวลาหายใจออก)
- มีขนาดความสูง ตั้งแต่ 160 เซนติเมตรขึ้นไป
- ถ้าขนาดสูงหรือขนาดรอบตัวอย่างใดอย่างหนึ่งต่ำกว่ากำหนดนี้ ให้ถือว่าเป็นคนที่ไม่ได้ขนาดจะส่งเข้ากองประจำการไม่ได้ (ทั้งนี้ความสูงตั้งแต่ 146 ซม.ขึ้นไป แต่จะคัดเลือกคนที่มีขนาดสูงตั้งแต่ 160 ซม.ขึ้นไปก่อน)
หมายเหตุ
ทหารกองเกิน ซึ่งอยู่ในกำหนดเรียกเข้ารับการตรวจเลือกฯ ในเดือน เม.ย. 68 ผู้ใดที่เห็นว่าตนเองมีโรคหรือสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้
- ให้ไปขอรับการตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการ ทหารกองประจำการ ประจำปี 2568 ได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ 26 แห่งทั่วประเทศ (โรงพยาบาลใดก็ได้) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 67 -25 ก.พ. 68
- หากพ้นห้วงเวลาที่กำหนด จะดำเนินการตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกฯ ให้ไม่ได้ แต่ทหารกองเกินสามารถนำผลการตรวจโรคของแพทย์จากโรงพยาบาลทหารหรือโรงพยาบาลของรัฐไปแสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกฯ ในวันตรวจเลือกฯ เพื่อประกอบการวินิจฉัยได้
ขั้นตอนการตรวจเลือกฯ
ในวันตรวจเลือกทหารกองเกิน (วันเกณฑ์ทหาร) เวลา 07.00 น. ทหารกองเกินที่ได้รับหมายเรียก (แบบ สด.35) แล้ว ทุกคนเข้าแถวตามแขวง/ตำบล เพื่อเตรียมเคารพรงชาติ ประธานกรรมการตรวจเลือกทหาร ชี้แจงความจำเป็นถึงการตรวจเลือกทหาร เมื่อประธานกรรมการชี้แจงเสร็จ กรรมการสัสดีจะชี้แจงถึงขั้นตอนการปฏิบัติในการตรวจเลือกทหาร รวมทั้งสิทธิต่างๆ ของผู้ถูกเข้ารับราชการทหารกองประจำกร คือ ผู้ที่สมัครหรือผู้ที่จับสลากแดงได้ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
โต๊ะที่ 1 เรียกชื่อ
- กรรมการจะเรียกชื่อทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือก
โต๊ะที่ 2 ตรวจร่างกาย
กรรมการแพทย์จะตรวจร่างกายว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ กรรมการสัสดีกำหนดคนเป็น 4 จำพวก คือ
- จำพวกที่ 1 คนร่างกายสมบูรณ์ดี
- จำพวกที่ 2 คนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ
- จำพวกที่ 3 คนที่ได้รับอุบัติเหตุหรือมีโรครักษาให้หายไม่ได้ภายใน 30 วัน
- จำพวกที่ 4 คนที่ร่างกายพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร
โต๊ะที่ 3 วัดขนาด
- กรรมการจะวัดขนาดสูงและขนาดรอบตัวของร่างกาย
ประธานการตรวจเลือกทหารจะตรวจสอบขั้นสุดท้าย
- ถ้าร่างกายสมบูรณ์ดีและขนาดสูง 1 เมตร 60 เซนติเมตร ขนาดรอบตัว 76 เซนติเมตร ในเวลาหายใจออกเรียกว่า คนได้ขนาด และจะให้รอจับสลาก
- เมื่อมีคนได้ขนาดพอกับยอดจำนวนที่ต้องการคนเข้ากองประจำการ ทหารกองเกินที่มี ขนาดสูงต่ำกว่า 1 เมตร 60 เซนติเมตร ขนาดรอบตัวต่ำกว่า 76 เซนติเมตร ในเวลาหายใจออก และคนจำพวกที่ 2,3,4 ซึ่งร่างกายไม่สมบูรณ์ดีหรือร่างกายพิการทุพพลภาพหรือมีโรคที่ขัดต่อการเป็นทหารกองประจำการ ประธานกรรมการจะปล่อยตัวพร้อมกับมอบใบรับรองผลการตรวจเลือก (แบบ สด.43) ให้ทหารกองเกินรับไป
หมายเหตุ
- ทหารกองเกินหรือบุคคลที่จับสลากแดงหรือสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ ประธานกรรมการตรวจเลือกจะส่งตัวให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ออกหมายนัดให้ไปเข้ารับราชการทหารตามผลัดที่จับสลากได้ หรือผลัดที่สมัครไว้
- สำหรับผู้ที่มีคุณวุฒิพิเศษประสงค์จะขอสิทธิลดวันรับราชการให้แสดงหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจเลือกและต้องเขียนคำร้องฯ ต่อเจ้าหน้าที่รับคำร้องด้วย
- ในวันตรวจเลือก ผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนจะได้รับใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (แบบ สด.43) หรือใบผ่านการเกณฑ์ทหาร
- ผู้ใดไม่ไปถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
กรณีผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร
- ชายไทย อายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 26 ปี
- กำลังศึกษาอยู่และไม่ได้เรียนหรือเรียนวิชาทหารไม่จบชั้นปีที่ 3
การขอผ่อนผันเกณฑ์ทหาร ให้นักศึกษานำแบบ สด. 9 ไปขอรับหมายเรียก แบบ สด.35 ณ ที่ว่าการอำเภอตามภูมิลำเนาทหาร แล้วนำมาแสดงเพื่อขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร ณ งานกิจการนักศึกษา คณะ/วิทยาลัยเขต/วิทยาเขต ต้นสังกัด ซึ่งส่วนใหญ่ทางสถานศึกษาจะเปิดให้ยื่นเอกสารในช่วงปลายปี ก่อนปีที่จะต้องเข้าตรวจคัดเลือก เช่น ตรวจคัดเลือกปี 2568 ต้องทำการยื่นเอกสารเพื่อขอหนังสือรับรองการศึกษา ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 (หรือตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด)
กรณีชายไทยยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ไม่สามารถเดินทางไปตรวจคัดเลือกเกณฑ์ทหารได้ในวันและเวลาที่กำหนด พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถดำเนินการแทนได้ โดยใช้เอกสารยื่นต่อสัสดีตามภูมิลำเนา ดังนี้
เอกสารการผ่อนผันเกณฑ์ทหารกรณีศึกษาอยู่
- สด. 9 และ สด. 35
- หนังสือรับรองการศึกษา หากเป็นภาษาต่างประเทศต้องขอฉบับแปลเป็นภาษาไทย
- หากศึกษาอยู่ต่างประเทศ ต้องขอหนังสือรับรองของสถานทูต หรือ สถานกงสุลไทยในประเทศที่กำลังศึกษาอยู่
ทั้งนี้ กรณีการผ่อนผันดังกล่าว จะได้ระยะเวลาผ่อนผันตามจำนวนปีที่ศึกษาจนกว่าจะจบการศึกษา
กรณีติดราชการ หากอยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ หรือปฏิบัติงานทางราชการตามที่กำหนดนี้ จะได้รับการผ่อนผันจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย ได้แก่
- ผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแบบปัจจุบันทันด่วน
- ข้าราชการ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ ระหว่างที่มีสงคราม ในการดูแลควบคุมของกระทรวงกลาโหม
- บุคคลที่กำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม
กรณีป่วย เกิดเหตุสุดวิสัย และอื่น ๆ
- กรณีที่ไม่สามารถเดินทางไปยังสถานที่ ในวันและเวลาที่กำหนดได้ ต้องให้บุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ดำเนินการแจ้งกับสัสดี หรือคณะกรรมการคัดเลือกในวันคัดเลือกเกณฑ์ทหาร หากไม่ยื่นแจ้ง ถือว่ามีความผิด
ผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร ใช้หลักฐานอะไรบ้าง?
- สำเนาใบสำคัญ (แบบ สด.9) หน้า-หลังจำนวน 4 ชุด
- สำเนาหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) จำนวน 4 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 4 ชุด
- หนังสือรับรองการเป็นนักศึกษา (ต้องเป็นฉบับจริง 1 ฉบับ) สำเนา 3 ฉบับ
- สำเนาหลักฐานการเปลี่ยน ชื่อ-ชื่อสกุล (ถ้ามี) จำนวน 4 ชุด
- สำเนาใบโอนย้ายภูมิลำเนา (ถ้ามี) จำนวน 4 ชุด
- สำเนาบัตรนักศึกษา จำนวน 4 ชุด
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 4 ชุด
หมายเหตุ : โปรดตรวจสอบ หลักฐาน ข้อ 1–3 ชื่อ-นามสกุล ของผู้ขอผ่อนผัน/บิดา/มารดา ให้ตรงกันด้วย และต้องสำเนาให้ชัดเจนพร้อมลงนามรับรองสำเนาด้วยทุกฉบับ
กรณีสมัครใจเข้ารับราชการ
“กองทัพบก” เปิดรับสมัครคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ ประจำปี 2568 ไม่จำกัดวุฒิ เลือกลงหน่วยได้ตามความสมัครใจ
คุณสมบัติของผู้สมัคร
1. ทหารกองเกินที่มีอายุ 18 – 20 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2568 (เกิดปี พ.ศ. 2547 – 2549)
2. ทหารกองเกินที่มีอายุ 22 – 29 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2568 (เกิดในปี พ.ศ. 2538 – 2545) ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการแล้ว แต่ไม่ถูกเข้าเป็นทหารกองประจำการ
3. ขนาดรอบตัว ตั้งแต่ 76 ซม. ขึ้นไป ในเวลาหายใจออก มีส่วนสูง 146 ซม.ขึ้นไป
สมัครด้วยตนเองผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ https://rcm.rta.mi.th หรือสมัครด้วยตนเอง ณ หน่วยสัสดีใกล้บ้านท่าน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป