มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บทบาทของนิสิตกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของมหาวิทยาลัย

4,745

เมื่อวันที่10 มิ.ย.61 เวลา 08.30-11.30น. ณ วิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับเมตตาจากพระเดชพระคุณพระราชพรหมจริยคุณ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ดเมตตานิมนต์เป็นวิทยากรบรรยายโครงการปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ประจำปีการศึกษา 2561

เบื้องต้นได้กล่าวขอโอกาสและกราบขอบคุณพระเดชพระคุณพระราชพรหมจริยคุณ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้เป็นประธานและวิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ดที่ได้เมตตาให้โอกาสมาบรรยาย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนิสิตในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของนิสิตกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ประจำปีการศึกษา 2561 ขอโอกาสท่านผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบรรพชิตทุกท่าน เจริญพรท่านผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายคฤหัสถ์ทุกท่าน

ขอสวัสดีนิสิตบรรพชิตทุกท่าน เจริญพรนิสิตคฤหัสถ์ทุกคน ในการบรรยายครั้งนี้ขอกำหนดประเด็นในการบรรยาย 3 ประเด็นสำคัญ คือ (1) ทักษะมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 (2) บทบาทมหาวิทยาลัยต่อนิสิต (3) บทบาทนิสิตต่อมหาวิทยาลัย ดังนี้

1.ทักษะมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การเรียนรู้ 3Rx7C 3 R ได้แก่ Reading (อ่านออก), (W)Riting (เขียนได้), และ (A)Rithemetics (คิดเลขเป็น) ส่วน 7C ได้แก่(1) Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา)(2) Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม) (3) Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)(4) Collaboration,Teamwork and Leaderships (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ(5) Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ(6) Computing and ICT Literacy(ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)และ(7) Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)

2.บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อนิสิต กล่าวถึงข้อมูลทั่วไปของมหาวิทยาลัย เน้นสุภาษิต ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจ 4 ประการ คือ(1) ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ (2) วิจัยและพัฒนา (3) ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม (4)ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม นอกจากนี้ในวันนี้ทิศทางการพัฒนานิสิตเพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ภายใต้โจทย์สำคัญ คือ Need ผู้ใช้บัณฑิตเปลี่ยนไป ผู้เรียนเปลี่ยนไป บริบทสังคมที่เปลี่ยนไป จะพัฒนาผู้เรียนยุคใหม่อย่างไรให้เอื้อต่อการพัฒนา

3.บทบาทนิสิตต่อมหาวิทยาลัย กล่าวถึง 4 ประเด็น คือ (1) นิสิตยุคใหม่ สมรรถนะในตัวนิสิตจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น ต้องใช้ความรู้ที่หลากหลายและประสบการณ์รอบด้านมากกว่าอดีต (2) บัณฑิตยุคใหม่ ต้องมีคุณลักษณะที่สูงกว่าปัจจุบัน เน้น”ความรู้” “สมรรถนะ” ควบคู่ “การมีภูมิคุ้มกันตนเอง หลากหลายความสามารถ พร้อมทำงาน และที่สำคัญต้องพร้อมทุกสถานการณ์

ได้กล่าวย้ำให้เห็นว่าถ้าการศึกษาคือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนสู่การมีคุณลักษณะที่มุ่งหวัง(Characteristic)คุณลักษณะความเป็นนักวิชาชีพ/คุณลักษณะที่แสดงความพร้อมในการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยในสังคม และสำคัญที่สุด คือ คุณลักษณะที่มหาวิทยาลัยมุ่งหวังให้เป็น หรือคุณลักษณะนิสิตอันพึงประสงค์ตามนวลักษณ์ 9 ประการ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย และพระเดชพระคุณพระราชวรมุนี,ดร. (พล อาภากโร ป.ธ.9) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตได้ผูกคำให้จำง่าย คือ (1) ปฏิปทาน่าเลื่อมใส (วางตัวน่าเข้าใกล้) (2) ใฝ่รู้ใฝ่คิด(3) เป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญา (4) มีทักษะด้านภาษา (5) มีศรัทธาอุทิศตน (6) รู้จักเสียสละ (7) รู้เท่าทันสังคม (8) สั่งสมโลกทัศน์ (9) พัฒนานวัตกรรมเชิงพุทธ

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อนิสิตอย่างมากเพราะมหาวิทยาลัยถือว่านิสิตนักศึกษา คือหัวใจของมหาวิทยาลัย บัณฑิตไทย คือหัวใจของประเทศ การเป็นบัณฑิต มจร นอกจากเป็นหัวใจของประเทศแล้ว ยังถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และหัวใจของคณะสงฆ์ด้วย ทุกท่านจึงมีความสำคัญ มหาวิทยาลัยได้ออกแบบจัดการศึกษาที่ผ่านการรับรองจากสภามหาวิทยาลัย และสกอ. มีเอกลักษณ์เฉพาะเช่นมีการเรียนวิชาแกนทางพระพุทธศาสนาทุกหลักสูตร ต้องฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานทุกภาคการศึกษา 10 วันต่อเนื่องกันสำหรับปริญญาตรี 30 วันสำหรับปริญญาโท และ45วันสำหรับปริญญาเอก
นิสิตบรรพชิตต้องปฏิบัติศาสนกิจทำงานสนองงานคณะสงฆ์และช่วยพัฒนาชุมชนสังคม 1 ปี เมื่อเรียนจบครบตามหลักสูตรแล้ว นิสิตคฤหัสถ์ต้องทำงานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์หรือบริการสังคม 200 ชั่วโมง

ในการจัดการศึกษามีส่วนจัดการศึกษา 4 คณะ และมีบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และวิทยาลัยพระธรรมทูตในส่วนกลาง มีวิทยาเขต วิทยาลัย ห้องเรียน และหน่วยวิทยบริการในส่วนภูมิภาค โดยมีส่วนงานสนับสนุนช่วยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เช่น การจัดกิจกรรมพัฒนานิสิต “วิชาการสร้างงาน กิจการสร้างคน” โดยทั่วไปมี 5 กิจกรรม คือ (1) กิจกรรมส่งเสริมคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ที่กำหนดโดยสถาบัน(นวลักษณ์9ประการ) (2) กิจกรรมกีฬาหรือส่งเสริมสุขภาพ (3) กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์หรือรักษาสิ่งแวดล้อม (4) กิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม (5) กิจกรรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม

สิ่งสำคัญที่จะทำให้นิสิตทุกท่านได้รับการพัฒนา คือ การปฏิบัติตามบทบาทและหน้าที่ของตนเอง “อย่าเรียกร้องสิทธิที่อยากมี หากนิสิตไม่เคยทำหน้าที่ที่ควรทำ” พระราชธรรมวาที ท่านกล่าวไว้ว่า “มีหน้าที่ รู้หน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ รับผิดชอบต่อหน้าที่ เราจะมีศักดิ์ศรีทั้งทางโลกและทางธรรม…แต่ถ้าเรามีหน้าที่ รู้หน้าที่ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ เราจะเสียศักดิ์ศรีทั้งทางโลกและทางธรรม”

การเป็นนิสิตและการเดินทางเพื่อเป้าหมายที่มุ่งหวัง ผู้รู้กล่าวไว้ว่า ไม่มีใครทำให้ใจเราแพ้ได้ ถ้าหัวใจเราไม่ยอมมพ่ายแพ้ ใครจะดูถูกเรา ก็ปล่อยให้เค้าดูถูกไป แต่จงท่องให้ขึ้นใจว่า “เราจะไม่ดูถูกตัวเราเอง”

ไม่ดูถูกถิ่นเคยอยู่ อู่เคยนอน หมอนที่เคยหนุน พระคุณที่เคยพึ่งพา ที่สำคัญ มจร สถาบันแห่งนี้ ครูบาอาจารย์กล่าวกันมาว่า “ดื่มน้ำอย่าลืมคนขุดบ่อ เรียน มจร อย่าลืมเสด็จพ่อร.5” เส้นทางอันยาวใกล้ พวกเราในฐานะนิสิตยังต้องแบกภาระเพื่อดำเนินชิวิตและอนาคตแห่งตน มีการแข่งขัน บ้างก็ทยอยแซงหน้าเราไป อาจจะเหนื่อยและลดภาระคือกระดานที่แบกไว้ และเห็นว่าเมื่อลดภาระที่แบกไว้ด้วยการตัดภาระให้น้อยลงทำให้เบาสบายกว่าคนอื่น และแซงหน้าคนอื่นได้ แต่เมื่อในที่สุดกระดานภาระะที่เราแยกมันคือ สะพานที่จะใช้ทอดข้ามทางขาด ซึ่งคืออุปสรรคแห่งตนนั่นเอง ภาระที่เราแบกไว้และเราลดลงคือ “ความเพียรและความพยายาม”

พระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี เน้นย้ำกับพวกเราเสมอถึงประสบการณ์การทำงานหรือการทำกิจกรรม งานบางอย่างเราทำเพื่อสั่งสมประสบการณ์การทำงาน และหยิบยกคำกล่าวของปรีดี พนมยงค์ว่า “เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ก็ไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ก็ไม่มีอำนาจ” และขงจื้อว่า “อย่าห่วงว่าใครไม่รู้ว่าท่านเก่งหรือมีความสามารถ จงห่วงแต่ว่า…..สักวันหนึ่งเมื่อคนเขายกย่องหรือเลือนตำแหน่งท่าน….ท่านจะมีความเก่งและมีความสามารถสมกับที่เขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งหรือเปล่า”