มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

“มจร-มมร” ร่วมกับ “สสส.”  จับมือภาคีเครือข่าย จัดประชุมสัมมนาระดับชาติและนานาชาติ ถอดบทเรียน พัฒนาศูนย์สุขภาวะวิถีพุทธ

29 กันยายน 2567

 

“มจร-มมร” ร่วมกับ “สสส.”  จับมือภาคีเครือข่าย จัดประชุมสัมมนาระดับชาติและนานาชาติ ถอดบทเรียน พัฒนาศูนย์สุขภาวะวิถีพุทธ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตสงฆ์-ชุมชนทั่วไป

                     เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 เวลา 08.30-16.30 น. ที่ชั้น 2 ตึกคณะมนุษยศาสตร์ – คณะศึกษาศาสตร์ “มมร 248” ถนนศาลายา–นครชัยศรี ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โครงการการพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกการประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายประกอบด้วย สถาบันวิจัยญาณสังวร มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย(มมร) , หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานคณคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), วิทยาลัยพระธรรมทูต และกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) , ศูนย์วิจัยธรรมศึกษา สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย, ศูนย์อบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัยสภากาชาดไทย, สถาบันพุทธศิลป์อินเดีย และสถาบันภาคีเครือข่ายระดับชาติและนาชาติ ครั้งที่ 1 (ออนไซต์/ออนไลน์) ในหัวข้อ เรื่อง “พุทธศาสนากับสุขภาวะแบบองค์รวม” โดยโครงการได้กำหนดให้พื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนในระดับภูมิภาคเข้าร่วมประชุมออนไซต์

         การจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) เพื่อสังเคราะห์และจัดทำชุดความรู้จากการจัดการความรู้และถอดบทเรียนการดำเนินงานด้านสุขภาวะวิถีพุทธ (2) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาวะวิถีพุทธผ่านสื่อและเวทีสื่อสารสาธารณะหรือนิทรรศการ (3) เพื่อถอดบทเรียนศูนย์สุขภาวะวิถีพุทธ NODE พื้นที่ (4) เพื่อเสนอแนวทางการยกระดับสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชนทั่วไทย และจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการ  

            การประชุมครั้งนี้ได้รับความเมตตาจากพระมงคลธรรมวิธาน รองอธิการบดี มมร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และพระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม,ผศ.ดร. รองอธิการบดีด้านวิจัย มมร กล่าวต้อนรับ การนี้ พระครูสุตรัตนบัณฑิต,ดร. ผู้จัดการโครงการการพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกการประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชน ได้นำเสนอนำการประชุมระดับชาติและนานาชาติในครั้งนี้ ในประเด็นหัวข้อ เรื่อง “พุทธศาสนากับสุขภาวะองค์รวม” และผลการดำเนินงานโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติในการ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชน”

             พระครูสุตรัตนบัณฑิต กล่าวว่า พระพุทธศาสนากับสุขภาวะองค์รวม โดยได้กล่าวถึงการบูรณาการหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ากับแนวคิดสุขภาวะสมัยใหม่ ผ่านประสบการณ์การทำงานในพื้นที่โดยได้กล่าวถึงแนวคิดพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ท่านได้ยกตัวอย่าง หลักอริยสัจ 4 ไตรลักษณ์ และขันธ์ 5 ที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกับสุขภาวะองค์รวม ความสอดคล้องระหว่างหลักธรรมกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยกล่าวถึงสุขภาวะองค์รวมใน 4 มิติตามหลักพระพุทธศาสนา ได้แก่ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางจิต และสุขภาวะทางปัญญา โดยอธิบายถึงการประยุกต์ใช้หลักธรรมในแต่ละมิติ วิธีการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การปฏิบัติสติ การใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทา และการพัฒนาปัญญาผ่านการศึกษาและปฏิบัติธรรม โดยอ้างอิงงานวิจัยและการศึกษาที่เกี่ยวข้องที่แสดงให้เห็นถึงผลดีของการปฏิบัติสมาธิต่อสุขภาพกายและจิต รวมถึงกรณีศึกษาการนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการรักษาและส่งเสริมสุขภาพ และประเด็นสุดท้ายความท้าทายในการบูรณาการพระพุทธศาสนากับการส่งเสริมสุขภาวะองค์รวม

           ในส่วนผลการดำเนินการโครงการการพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกการประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พระครูสุตรัตนบัณฑิต กล่าวว่า วันนี้มีพื้นที่ศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ 4 พื้นที่ ได้นำเสนองานในวันนี้ด้วย คือ (1) ศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศร้อยุธยา : ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ กลุ่มอัตลักษณ์ และกลุ่มเปราะบาง อำเภอท่าเรือ โดย พระอธิการสุทธิชัย อธิฏฐาโน วัดบางม่วง พระนครศรีอยุธยา และนายไพฑูรย์ เวชวงษ์ สำนักงานคุมประพฤติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (2) แนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะองค์รวมแก่กลุ่มสามวัย: กรณีศึกษาศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ จังหวัดพัทลุง ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดย นางสาวณัฏฐชาญ์ธรรมธนไพศาล และคณะ (3) แนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะพระสงฆ์และชุมชน วัดวุฒิมงคล จังหวัดแพร่ โดย พระครูปลัดจีระพันธ์ คมฺภีรธมฺโม และ นางสาวสริตา เมืองมูล (4) การพัฒนาบุคลากรต้านศาสนาและนโยบายสุขภาพ ของคณะสงฆ์อำเภอนางรอง จังหวัดบรีรัมย์ โดย ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ คงทรัพย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ (5) แนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะพระสงฆ์และชุมชน วัดป่าคูณคำวิปัสสนา ตำบลกุดไห อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร โดย พระมหากฤษณะ วงพรม และคณะ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การดำเนินการในครั้งนี้ 

มีผลการดำเนินงานโครงการ ดังนี้

1. มีพระสงฆ์แกนนำที่อยู่ในกลไกศูนย์ฯ จำนวน 24 ศูนย์หลัก และ จำนวน 60 ศูนย์ขยายผล รวมไม่น้อยกว่า 300 รูป ได้แก่ (1) แกนนำศูนย์หลักในวัด จำนวน 10 แห่งๆ ละ ไม่น้อยกว่า 3 รูป รวม 30 รูป (2) แกนนำศูนย์ขยายในวัด จำนวน 30 แห่ง (10×3) แห่ง ๆ ละ ไม่น้อยกว่า 3 รูป รวม 120 รูป (3) แกนนำศูนย์หลักในกลุ่มพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 14 แห่ง ๆ ละ 1 รูป รวม 14 รูป (4) แกนนำศูนย์ขยายในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 403 แห่ง ๆ ละ ไม่น้อยกว่า 5 รูป รวม 2,015 รูป (ผอ./ครู/สามเณรนักเรียน) รวมทั้งสิ้น 2,149 รูป

2. เกิดศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ (ศูนย์หลัก) จำนวน 24 ศูนย์ ได้แก่  (1) จำแนกเป็นศูนย์ประสานงานวิถีพุทธในเขตการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ 14 แห่ง แผนกนักธรรมบาลี 1 แห่งและ(2) ศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธในวัดอีก 10 แห่ง ซึ่งมีการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรในพื้นที่ (ระดับตำบลเป็นอย่างน้อย) และจัดเวทีสาธารณะเพื่อคืนข้อมูลให้กับคณะสงฆ์และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดทำนโยบายสาธารณด้านสุขภาพและร่วมกันขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ศูนย์หลักทั้ง 24 ศูนย์ มีการขยายผลการดำเนินงานไปยังศูนย์ขยายในพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 60 ศูนย์ ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ 18 ศูนย์หลักและ 54 ศูนย์ขยายผล ครอบคลุม 18 ภาคการปกครองคณะสงฆ์

 

 

3. สามารถออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูล จำนวน 1 ระบบ สามารถพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธทั้ง 24 แห่ง ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล และมีผลการดำเนินงานทั้งสิ้น จำนวน 30,242 รายการ

4. การดำเนินการจัดทำนโยบายสาธารณะข้อมูลด้านสุขภาวะพระสงฆ์ในระดับพื้นที่ มีศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ ดังนี้ (1) ศูนย์ประสานงานวิถีพุทธในเขตการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ 14 แห่ง ศูนย์หลักสามารถจัดทำธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรมระดับเขต (2) ศูนย์ขยายในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 403 แห่ง มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับโรงเรียนทุกโรง

           อย่างไรก็ตาม การพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชน” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกประสานงานด้านสุขภาวะในวัดและกลไกคณะสงฆ์ในระดับต่างๆโครงการนี้เป็นการต่อยอดจากธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 และแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวัดให้เป็น 

             “ศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ” ซึ่งจะทำหน้าที่จัดทำฐานข้อมูลด้านสุขภาวะพระสงฆ์ สานพลังคณะสงฆ์ ชุมชน และภาคีเครือข่าย รวมถึงจัดทำและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชนการดำเนินการโครงการนี้ เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาพระสงฆ์ในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะช่วยยกระดับการดำเนินงานด้านสุขภาวะขององค์กรสงฆ์และชุมชนให้เป็นระบบและเป็นรูปธรรมมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของ สสส. และแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” พระครูสุตรัตนบัณฑิต กล่าวในตอนท้าย

ขอบคุณที่มาของข่าว https://siampongsnews.blogspot.com/2024/10/blog-post.html?fbclid=IwY2xjawFo8yxleHRuA2FlbQIxMAABHVGCmbeLt0NfDMt9l7_pHn67sBZWX1go0LxjR1fHW2vAEmxNRhWg0D4sQQ_aem_99YJlyFewduglluVaZi22Q