สายสัมพันธ์คณะสงฆ์จีนนิกาย และ คณะสงฆ์มหานิกาย
ผ่านพระมหาเถระวัดสระเกศ “ภูเขาทอง)
รองประธานคณะสงฆ์จีน เยี่ยม “พระพรหมสิทธิ”
วันที่ 6 ตุลาคม 2567
พระอาจารย์ยิ่งซุ่น (Yin Shun) หรือ พระอาจารย์จีนวิเทศศาสนานุสิฐ รองประธานสงฆ์จีน และสมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติจีนชุดที่ 14 ได้เดินทางมาแสดงความยินดีกับพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ในโอกาสที่ได้กลับมาดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร การพบปะกันครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการแสดงถึงความเคารพนับถือที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกัน แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพุทธศาสนานิกายเถรวาทและมหายานในบริบทของการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาพระพุทธศาสนาอีกด้วย
พระพรหมสิทธิและพระอาจารย์ยิ่งซุ่น ถือเป็น “พี่น้อง” สายธรรมระหว่างสองนิกาย ด้วยพระอาจารย์ยิ่งซุ่นเป็นผู้สืบสายธรรมจากพระธรรมาจารย์เปิ่นฮวน (Ben Huan) อดีตประธานสงฆ์จีน ซึ่งเป็นสหธรรมิกของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขณะที่ทั้งสองท่านยังมีชีวิตอยู่ เคยได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยที่ทั้งสองท่านต่างก็มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปสู่ผู้คนทั่วโลก
ในขณะพบปะกัน พระอาจารย์ยิ่งซุ่นได้ชี้ให้พระพรหมสิทธิดูป้ายคำว่า “เจ้าอาวาส” ที่ท่านเขียนด้วยอักษรจีนให้พระพรหมสิทธิ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว พร้อมกับบอกว่า “ตอนรู้ข่าวว่าพระพี่ชายเกิดปัญหาอยู่เมืองไทย ท่านทุกข์ใจมาก ความรู้สึกไม่ต่างจากวันที่พระธรรมาจารย์เปิ่นฮวน พระอาจารย์ของท่านละสังขาร พยายามสอบถามข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นที่เมืองไทย แต่ก็ไม่มีใครให้ข้อมูลที่ชัดเจน ได้ ซึ่งวันนี้ได้เห็นพระพี่ชายกลับมาอยู่ในสภาพเช่นนี้ เป็นวันที่ท่านมีความสุขที่สุด”
การที่พระอาจารย์ยิ่งซุ่น ผู้เป็นเจ้าคณะปกครองคณะสงฆ์จีน 8 มณฑล มีวัดและวิทยาลัยสงฆ์ในกำกับดูแลหลายแห่งทั่วโลก เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับพระพรหมสิทธิในฐานะตัวแทนจากประเทศจีนครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพและมิตรภาพที่ลึกซึ้งระหว่างคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์จีนแล้ว ยังแสดงให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระพุทธศาสนา และเป็นตัวอย่างของการเชื่อมโยงระหว่างนิกาย ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมความเป็นมิตรและความเข้าใจกันระหว่างพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังจะช่วยสร้างเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลในระดับโลกอีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์อันดีของพี่น้องคู่นี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน โดยไม่เพียงแต่เน้นที่การศึกษาและการปฏิบัติธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับโลก ที่จะช่วยนำพระพุทธศาสนาเสริมสร้างสันติสุขและความเป็นหนึ่งเดียวของสังคมสู่อนาคต
ขอบขอบคุณ ภาพและข่าวโดย https://thebuddh.com/?p=83923