มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มจร จัดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนิสิต ป.ตรี ทั่วประเทศ ถวายพระราชกุศล หวังเสริมวิชายอด จรณะเยี่ยมตามนวลักษณ์ 9 ประการ

1,430

“มจร จัดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนิสิต ป.ตรี ทั่วประเทศ ถวายพระราชกุศล หวังเสริมวิชายอด จรณะเยี่ยมตามนวลักษณ์ 9 ประการ”

วันนี้(17 ธ.ค.2561)เวลา 17.00 น.ที่อาคาร มวก.48 พรรษา มจร วังน้อย พระนครศรีอยุธยา พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร.อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานเปิดโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน นิสิตระดับ ป.ตรี ประจำปีการศึกษา 2561 ระหว่างวันที่ 17-28 ธันวาคม 2561 ณ อาคาร มวก.48 พรรษา มจร วังน้อย อยุธยา

พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน,ดร. รักษาการรองคณบดีคณะพุทธศาสตร์ ปฏิบัติหน้าที่กล่าวรายงานแทนพระราชวรมุนี,ดร. (พล อาภากโร ป.ธ.9) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต และประธานโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานว่า มหาจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทยโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ มี 4 พันธกิจ คือ (1)ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ (2)วิจัยและพัฒนา (3)ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม (4) ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

การจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยฯ จึงได้กำหนดให้มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และกิจกรรมพัฒนานิสิตในรูปแบบต่างๆ มหาวิทยาลัยโดยคณะกรรมการโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจึงได้กำหนดให้นิสิต มจร ที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี ต้องเข้าฝึกภาคปฏิบัติดังกล่าวนี้เป็นเวลา 10 วันติดต่อกันตามสถานที่ที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้

(1) เพื่อถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร
(2) เพื่อพัฒนานิสิตให้มีคุณภาพ และเป็นศาสนทายาทที่มีศักยภาพ
(3) เพื่อให้นิสิตมีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์ด้านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติสามารถนำไปใช้และสอนให้คำแนะนำเบื้องต้นได้

ในการศึกษา 2561 นี้มีนิสิตผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั่วประเทศทั้งสิ้น จำนวน 16,995 รูป/คน ซึ่งแยกปฏิบัติตามสถานที่ที่ส่วนงานนั้นๆกำหนด เฉพาะส่วนกลาง มีจำนวนนิสิตผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,233 รูป/คน โดยแยกปฏิบัติตามคณะ ดังนี้

(1) คณะพุทธศาสตร์ เข้าฝึก ณ มจร วังน้อย อยุธยา
(2) คณะครุศาสตร์ เข้าฝึก ณ ศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สน เขาค้อ เพชรบูรณ์
(3) คณะมนุษยศาสตร์ เข้าฝึก ณ พุทธมณฑล นครปฐม
(4) คณะสังคมศาสตร์ เข้าฝึก ณ มหาจุฬาอาศรม ปากช่อง นครราชสีมา

พระราชปริยัติกวี กล่าวเปิดงานและให้โอวาทมีสาระสำคัญว่า …การศึกษาทฤษฎีหรือรู้วิชาการอย่างเดียวอาจเป็นอันตรายและเป็นยาพิษได้ เพราะทำให้การใช้ชีวิตตามโลกธรรมของเรามีปัญหา การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของทุกท่าน นอกจากจะได้บำเพ็ญบารมีเป็นประโยชน์ส่วนตนแล้วยังได้น้อมถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร อีกทั้งก็ยังได้ชื่อว่ายังธุระของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทั้ง 2 ไม่ว่าคันถธุระ คือ การศึกษาคำสอนของพระศาสดา และวิปัสสนาธุระ คือ การศึกษาพัฒนาใจโดยการนำคำสอนของพระศาสดามาฝึกฝนอบรมจิตใจของเรา การที่ทุกท่านได้มีโอกาสปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในช่วงนี้ จึงได้ทำธุระทั้งสองในพระศาสนา ได้ทบทวนสิ่งต่างๆที่ผ่านมา และเตรียมสิ่งที่ดีงามให้กับชีวิตในช่วงปีใหม่ ขออนุโมทนาทุกฝ่ายที่มีส่วนรวมในโครงการครั้งนี้…

หลังจากนั้น ได้มีการมอบตัวเป็นศิษย์และขึ้นกรรมฐาน โดย พระราชสิทธิมุนี,วิ. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ มจร ได้เป็นประธานรับมอบ ขึ้นกรรมฐาน และให้โอวาทว่าปีนี้สถาบันวิปัสสนาธุระ ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านพระวิปัสสนายมีการจัดอบรมสัมมนาชี้แจง รับฟังและแลกเปลี่ยนแนวทางการสอนและความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระวิปัสสนาจารย์มาโดยลำดับ นอกจากนั้นยังเสริมผู้ช่วยวิปัสสนา และจิตอาสาช่วยพระวิปัสสนาจารย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคฤหัสถ์หลายท่านจบ มจร หลักสูตรปริญญาโทซึ่งผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน 30 วัน ปริญญาเอกผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน 45 วัน แต่ยังมาศึกษาเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิปัสสนาภาวนาเพิ่มเติม และผ่านการเข้ากัมมัฏฐาน 3 เดือน จึงถือว่ามีประสบการณ์ตรงรู้อัธยาศัยนิสิตของ มจร เป็นอย่างดี เป็นกำลังสำคัญมาช่วยดูแลการปฏิบัติของนิสิตคฤหัสถ์ครั้งนี้ด้วย


ขอบคุณ:ภาพข่าว =MCU TV