มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ผอ.สถาบันวิปัสสนาธุระ ย้ำปฏิบัติธรรมนิสิตคฤหัสถ์เป็นโอกาสดีเพื่อเรียนรู้ ปฏิบัติและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สู่ชาวพุทธที่เป็นอุดมคติที่แท้จริง

“ผอ.สถาบันวิปัสสนาธุระ ย้ำปฏิบัติธรรมนิสิตคฤหัสถ์เป็นโอกาสดีเพื่อเรียนรู้ ปฏิบัติและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สู่ชาวพุทธที่เป็นอุดมคติที่แท้จริง”

วันนี้(21 ธ.ค.2561) เวลา 13.00 น. ที่อาคารหอฉันชั้น 4
พระราชสิทธิมุนี วิ.,ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ มจร เมตตาสอบอารมณ์กรรมฐาน แก่นิสิตนานาชาติ (ภิกษุณี แม่ชี สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา) และเวลา 19.30 น. วันเดียวกัน ท่านเจ้าคุณฯ เมตตาเทศนาธรรมแก่นิสิตจำนวน 200 รูป/คน มีใจความสรุปว่า

การปฏิบัติวิปัสสนา ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งเสริมให้การรักษาศีล 5 ศีล 8 มีความมั่นคงและมีคุณภาพ ซึ่งจะแผ่ขยายวงกว้างให้เกิดความเชื่อมั่น ความศรัทธาที่หยั่งรากลึกในพระพุทธศาสนา และมีอานิสงส์ตามมา คือ ‘ขันติ’ ที่จะอดทนอดกลั้นต่อสู้กับกิเลส มี ‘สติ สัมปชัญญะ’ ในการรักษาจิตตนและแก้ไขปัญหาเมื่อเจอความทุกข์และยามคับขัน ทั้งยังก่อให้เกิด ‘สมาธิและปัญญา’ ในการศึกษาเรียนรู้ และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

ดังนั้น การที่นิสิตมีโอกาสมาปฏิบัติธรรมนั้น ถือเป็นความโชคดีที่ได้มาอยู่ยังสถาบันนี้ เพราะผู้บริหาร มจร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนเล็งเห็นความสำคัญอันยิ่งยวดนี้ จึงมีนโยบายสืบต่อมาให้ช่วงเวลาเดือนธันวาคมนี้ เป็นฤดูกาลปฏิบัติธรรมของทุกปี เพราะการเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ จำต้องเรียนทั้งด้าน 1. คำสอน (คันถธุระ) และ 2. ปฏิบัติ (วิปัสสนาธุระ) จึงจะทำให้นิสิต มจร ทุกท่านสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซื่อตรงทั้งต่อตนเองและนำพาสังคมให้เกิดประโยชน์สุขสืบไป ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ‘อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง’ แปลว่า ‘ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด’ เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัส อันมีลักษณะดังกล่าวนี้

พระอาจารย์ก็ได้แสดงความหมายไว้ เป็นต้นว่า ที่ว่างามในเบื้องต้น ก็คือทรงแสดง ‘ศีล’ งามในท่ามกลาง ก็คือทรงแสดง ‘สมาธิ’ งามในที่สุด ก็คือทรงแสดง ‘ปัญญา’ หมายถึง ปฏิบัติให้บรรลุถึงประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ มรรคผลนิพพานได้นั่นเอง”

(ล่ามแปล/ผู้ถอดความ: ดร.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย)

ป.ล. อธิบายว่า ถ้านิสิตคฤหัสถ์ชาว มจร ใช้หลักวิปัสสนาธุระ-วิปัสสนากรรมฐาน เป็นหลักในการดำเนินชีวิตแก้ไขปัญหาของตนเองได้เช่น ทำให้มีจิตใจกล้าหาญชาญชัยเอาชนะสิ่งเสพติด เรียนหนังสือเก่ง เป็นคนดีของครอบครัว มีความสุขในสังคมชาว มจร และสังคมโลก และหรือ นำหลักกรรมฐานไปปฎิบัติได้จริงๆ ในภาวะวิกฤตดุจดั่งเช่น ในกรณีเด็กติดถ้ำ เป็นอาทิ นิสิตฆราวาสของ มจร ก็จะถือว่าเป็น ชาวพุทธที่เป็นอุดมคติ ที่แท้จริง