“รองอธิการบดี มจร จับมือ มมร คณะสงฆ์ และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ สช.,สสส., สปสช.และสธ. พร้อมทั้งภาคประชาชน และThai PBS ประชุมร่วมหารือหาแนวทางการสื่อสารให้กำลังใจและช่วยเหลือแรงงาน Myanmar ในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่น”
วันนี้ (25 ม.ค.2564)เวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุม 401 สำนักงานอธิการบดี มจร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระเทพเวที,รศ.ดร. (พล อาภากโร ป.ธ.9)รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม หลังจากนั้น นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์และแนวทางการสานพลังความร่วมมือในการสื่อสารให้กำลังและช่วยเหลือแรงงาน Myanmar จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่น ๆ
การสำคัญนี้ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ Phon In ร่วมประชุมโดยท่านได้กรุณานำเสนอภาพรวมของสถานการณ์การควบคุม ป้องกันการระบาดของโควิด-19 (ระลอกใหม่) ทำให้ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อจากนั้น นายชูวงศ์ แสงคง เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้นำเสนอกิจกรรมต่าง ๆ ที่เครือข่ายได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายพื้นที่ ทำให้เห็นถึงความร่วมมือและแนวทางในการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน โดย นายสมเกียรติ จันทรสีมา องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางและช่องทางในการสื่อสารด้วย
จากนั้น นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ ศูนย์ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 (ศรค.) ได้นำเสนอแผนงาน รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19(ระลอกใหม่)โดยชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญ และเสนอแผนทั้งระยะเร่งด่วนเพื่อการควบคุมการระบาด ระยะฟื้นฟู เยียวยา และระยะยาวเพื่อการลงทุนเชิงโครงสร้างและพัฒนาระบบนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติ โดยมีกลยุทธ์สำคัญ คือ เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม ภาคสังคมหนุนเสริมภาครัฐ เน้นความรวดเร็วและกิจกรรมเชิงรูปธรรม ในพื้นที่เป้าหมายที่มีการระบาด โดยร่วมประสานดำเนินการทุกภาคส่วนเพื่อลดอคติไม่ให้เกิดสังคมตีตรา ไม่ตื่นกล้ว เข้าใจไม่ต่อต้าน นำคนเข้าระบบบริการและดูแลคุณภาพชีวิต ควบคุมการระบาดในชุมนุม สร้างความรู้และความตระหนัก
โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบาย 3 (MCU FOCUS) ของอธิการบดี มจร คือ (1) Learning Community (ชุมชนแห่งการเรียนรู้) (2) Academic Service (บริการวิชาการแก่สังคม) (3) Buddhist Innovation for Mental and Social development (นวัตกรรมเชิงพุทธเพื่อการพัฒนาจิตและสังคม) อย่างไรก็ตามได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิตินิสิตต่างประเทศในปีการศึกษา 2563 ว่ามีจำนวนนิสิตทั้งหมด 1,294 รูป จาก 28 สัญชาติ โดยแยกเป็นส่วนกลาง จำนวน 838 รูป และส่วนภูมิภาค จำนวน 456 รูป แยกตามระดับการศึกษา (1)ระดับปริญญาตรี จำนวน 950 รูป/คน (2) ระดับปริญญาโท จำนวน226รูป/คน (3)ระดับปริญญาเอก จำนวน 118 รูป/คน ในจำนวนทั้งกล่าวมีนิสิต Myanmar จำนวน 560 รูป ซึ่งมีองค์กรพระนิสิตชาวพม่า(MCU Myanmar Student Monks Organization) ทำหน้าที่บริหารกิจการงานต่างๆ นอกจากนี้ยังมีชมรมนิสิตตามกลุ่มชาติพันธุ์ของนิสิตประมาณ 5 ชมรม
หลังจากนี้ ผู้แทนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)คือ นางสาวยอดขวัญ รุจนกนกนาถ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสนับสนุนงบประมาณให้โครงการต่าง ๆ ดำเนินงานในส่วนของการจัดทำสื่อสร้างองค์ความรู้และการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะในระดับพื้นที่ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสื่อสารในประเด็นดังกล่าว การนี้ นายแพทย์ประจักษวิช เล็บนาค จาก สปสช. ได้กล่าวถึงบทบาทของ สปสช.ในการร่วมดำเนินงานกับคณะสงฆ์มาโดยลำดับโดยได้ชี้ให้ถึงบทบาทสำคัญของคณะสงฆ์ในการช่วยขับเคลื่อนงานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะสงฆ์มีต้นทุนทางสังคมมากสามารถจะช่วยสื่อสารกับประชาชนได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของผู้แทนองค์กรสงฆ์ พระราชเมธี, ดร. กรรมการและเลขานุการฝ่ายปกครอง,พระมงคลธรรมวิธาน, ผศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการคณะสงฆ์ มมร และ พระมงคลวชิรากร กรรมการและเลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ต่างอนุโมทนากับภาคีเครือข่าย และเห็นด้วยกับแนวทางในการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐกำหนด ต่างชี้ให้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งในกลุ่มของพระสงฆ์เองเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถร่วมทำหน้าที่สื่อสารให้กำลังและช่วยเหลือแรงงาน จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่น ๆโดยบูรณาการความร่วมมือกิจกรรมต่างๆ เช่น การผลิตสื่อ สื่อประชาสัมพันธ์และองค์ความรู้จาก สสส. และช่องทางการสื่อสารหรือการเเผยแพร่ของ Thai PBS แนวทางการดำเนินการที่ขับเคลื่อนโดยพระนิสิตชาวเมียนมาร์ซึ่งใช้ฐานความเชื่อหรือต้นทุนศรัทธาเป็นตัวกลางการสื่อสารจากรัฐไปยังแรงงานพม่า เพิ่มความเชื่อใจ อุ่นใจ เสริมกำลังใจและลดการระบาด นอกจากนี้ยังร่วมถึงการใช้เสียงตามสาย,สายด่วนคอลเซนเตอร์ หรือเทศน์ออนไลน์ โดยดำเนินการตามช่องทางหรือมาตรการที่รัฐกำหนด
อย่างไรก็ตาม การสำคัญนี้ที่ประชุมได้เห็นร่วมกันเพื่อดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ(1)การกำหนดกลไกความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกันงานของหน่วยงานด้านองค์กรศาสนา ด้านสุขภาพ ด้านสังคม และด้านการสื่อสาร (2) การพัฒนาศักยภาพพระนิสิตด้านสุขภาพ ด้านมาตรการรัฐที่เกี่ยวข้อง ด้านการสื่อสารและการให้คำปรึกษา(3) สร้างเครือข่ายการสื่อสาร เครือข่ายความร่วมมือทั้งการกระจายสื่อ(ที่มีอยู่แล้วและผลิตใหม่) คือ สื่อประชาสัมพันธ์และองค์ความรู้จากสสส.และช่องทางการสื่อสารหรือการเเผยแพร่ของThai PBS และการผลิตสื่อเฉพาะโดยส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตเมียนมาร์ได้ร่วมผลิตสื่อเฉพาะ หลังจากนั้น คณะผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมนำโดย พระเทพเวที,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝายกิจการนิสิต และนายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้นำคณะถวายสักการะพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร เพื่อรายงานผลการประชุมและรับฟังข้อคิดความเห็นจากองค์อธิการบดี ซึ่งท่านได้อนุโมทนากับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนงานดังกล่าว