มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“หอพักนิสิต มจร จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ(ภาคภาษาอังกฤษ) ผ่านระบบออนไลน์ หวังให้ข้อมูลนิสิตผนึกกำลังรับมือ ร่วมกำหนดมาตรการดูแล เฝ้าระวัง ป้องกันตัวเองและผู้อื่นในหอพักให้ปลอดภัยจากโควิด-19”

1,925
        วันที่ 5 สิงหาคม 2564  สืบเนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และนโยบายของมหาวิทยาลัยในการเปิดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็น Community Isolation(CI)การอยู่ของนิสิตเป็นจำนวนมากในหอพักอาจมีข้อสับสน กังวล ตระหนก ห่วงใย เป็นธรรมดา การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อลดข้อกังวลและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเหล่านี้ถือเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญในการสร้างข้อตกลงฉันทามติร่วมกัน เพื่อให้นิสิตและบุคลากรในหอพักนิสิตอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย เกิดการสื่อสาร และให้ความร่วมมือ การนี้พระเดชพระคุณพระเทพเวที,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร และเจ้าคณะภาค 6 ได้มีนโยบายและมอบหมายให้กองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี จัดกิจกรรมเพื่อดูแล ควบคุมและป้องกันให้นิสิตปลอดภัยจากโควิด-19 มาโดยลำดับนอกเหนือจากการกำหนดมาตรการควบคุม ดูแลป้องกันการเข้า-ออกหรือขึ้น-ลง อาคารหอพักนิสิตนับตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรก คือ (1) การจัดอบรมให้ความรู้ การผลิตหน้ากากผ้า ผลิตเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ (2) การให้ข้อมูลเรื่องวัคซีน (3) จัดอบรมให้ความรู้เสริมบทบาทพระนิสิตในการป้องกันตัวเองและช่วยเหลือสังคมเช่นThai PBS กรณีล่าม กทม. ช่วยสอบสวนโรค (4) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนิสิตและบุคลากรในหอพักในการกำหนด มาตรการอยู่ร่วมกันในหอพักของนิสิต (5) การส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้รับวัคซีน ฯลฯ

            ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดระลอกสามนี้ ได้มอบหมายให้กองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี ประสานกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพเพื่อจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมเรียนรู้ทำความเข้าใจและหาข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันของนิสิตและบุคลากรที่พักอาศัยอยู่ในหอพัก และเมื่อ มจร มีนโยบายเป็นCommunity Isolation การนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้สานพลังเป็นวิทยากรหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ โดยมีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.),สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.), และองค์กรภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ได้สนับสนุนองค์ความรู้ สื่อและทรัพยากรอื่นๆในการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย 

         กิจกรรมเริ่มต้นโดยประธานในพิธีได้รับความเมตตาจาก พระเทพเวที,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยกล่าวถึงความสำคัญ และคุณประโยชน์ ของการมีส่วนร่วมเพื่อผนึกกำลังกันเพื่อรับมือ ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อจากนั้น กิจกรรมการบรรยายเริ่มต้น โดยนพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้บรรยายหัวข้อ เรื่อง “ความสำคัญของการผนึกกำลังเพื่อรับมือและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 “ หลังจากนั้น นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ 5 ประเด็นสำคัญ คือ (1) ระบบการดูแลตนเองในระบบชุมชนให้กับผู้ติดเชื้อ Covid-19 : Community Isolation (CI) คืออะไร Home Isolation (HI) คืออะไร และ Community Isolation (CI) ต่างจาก Home Isolation (HI) อย่างไร  (2) ระบบการจัดการ Community Isolation (CI) (3) ข้อควรคำนึงถึง ของ Community Isolation (CI) (4) ต้นแบบ รูปธรรม Home/Community Isolation ที่เกิดขึ้นจริง กระบวนการ บทเรียนโดยยกตัวอย่าง เช่น พื้นกรุงเทพฯ กรณี ศูนย์พักคอยใกล้ชุมชนคลองเตย คลองเตยโมเดล ทวีวัฒนาโมเดล และพื้นที่จังหวัดนครปฐม กรณีนครปฐมโมเดล (5) บทบาทของวัด พระ พระนิสิต มจร ต่อสถานการณ์ดังกล่าว และ

        ในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 5 กลุ่มเพื่อให้แต่ละกลุ่มระดมความคิดเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการอยู่ร่วมกันในหอพักนิสิตให้ปลอดภัยโดยมีวิทยากรประจำกลุ่มนำกระบวนการในการชวนคิดชวนร่วมกำหนดแนวทางการอยู่ร่วมกันในหอพักนิสิตให้ปลอดภัยซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีและจากนั้นได้มีการนำเสนอโดยมอบหมายผู้แทนแต่ละกลุ่มมานำเสนอกลุ่มละ 5 นาที โดยมีนายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้เกียรติมาช่วยเติมเต็มประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติม ในช่วงท้ายกล่าวสรุปและปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ฯ โดย พระครูพิพิธสุตาทร,ดร.  (พระมหาบุญช่วย สิรินฺทโร) อาจารย์ประจำบัณฑิตศึกษา มจร วข.เชียงใหม่ 

 

             ผลการจัดกิจกรรมบรรลุวัตถุประสงค์เป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัยและศูนย์ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศปค.19) ของ มจร รูปแบบกิจกรรมมีการบรรยายโดยนำเสนอเนื้อหา ซักถาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เข้ารับการอบรมทั้งในห้องรวมและ 5 กลุ่มย่อย โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมตามเป้าหมายกำหนดไว้ 103 รูป/คน ผลการดำเนินงานมีจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 131 รูป/คน การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ทำให้นิสิตและบุคลากร มจร ที่พักอาศัยในหอพักนิสิตได้รับข้อมูล ลดความกังวล ตระหนักรู้ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น รู้ว่า CI ไม่ใช่แค่สถานที่กักตัว ,ความกลัวจะกดภูมิคุ้มกัน CI ต้องดูแลทั้งกายและใจ เพื่อความอยู่รอด, ความกลัวจะกดภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายทำให้อาการของผู้ติดเชื้อแย่ลง ดังนั้น Community Isolation (CI) จึงไม่ใช่แค่ “สถานที่ในการกักตัว” เท่านั้น แต่ต้องเป็นพื้นที่ในการดูแลเยียวยาจิตใจด้วย เพราะมีบางคน กลัว และต้องการคนรับฟังความต้องการด้านอื่นๆ (ปัจจุบันมีแต่การรับความต้องการด้านการแพทย์) ไม่มีใครที่รับฟัง และชี้นำความถูกต้องและลดความสับสนต่างๆได้การสนทนาธรรมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งจากการบรรยายของวิทยากร

        อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ (1) นิสิตและบุคลากรในหอพักได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจความสำคัญ ของระบบการดูแลตนเองในระบบชุมชนให้กับผู้ติดเชื้อ Covid-19 (2) นิสิตและบุคลากรในหอพักร่วมระดมความเห็นต่อบทบาท บุคลากรและนิสิต มจร.ในการมีส่วนร่วมรับมือกับโรคโควิด-19 และช่วยเหลือผู้ติดเชื้อCovid-19 ในระบบ HI/CI (3) นิสิตและบุคลากรในหอพักได้ร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วมกันในการดูแลป้องกันตัวเองและผู้อื่นให้ปลอดภัยจาก Covid-19 ขออนุโมทนาและขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน

 

ภาพ/ข่าวโดย : กองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี