“นิสิตปฏิบัติศาสนกิจ มจร รุ่นที่ 63 ภาคเหนือ 326 รูป ประชุมสรุปผลการปฏิบัติงาน 1 ปี ก่อนรับปริญญาพบปฏิบัติงานสนองงานคณะสงฆ์ ยันพร้อมเดินเครื่องเต็มสูบ ทำงานต่อยอดบูรณาการตามแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา หวังร่วมสร้างพุทธศาสน์ ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2561 ที่ มจร วิทยาเขตพะเยา จังหวัดพะเยา มีสัมมนานิสิตปฏิบัติศาสนกิจ รุ่นที่ 63 ประจำภาคเหนือ เพื่อสรุปผลการปฏิบัติศาสนกิจออกปฏิบัติงาน 1 ปีในเพศบรรพชิตเพื่อสนองงานคณะสงฆ์ และ ช่วยพัฒนาชุมชนสังคม โดยมีพระราชวรมุนี,ดร. (พล อาภากโร) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต และรองเจ้าคณะภาค 6 เป็นประธานในพิธีและบรรยายพิเศษ หัวข้อ เรื่อง “การปฏิบัติศาสนกิจกับการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา”
พระราชปริยัติ,ดร. รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา และเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ถวายรายงานว่า ในปีการศึกษา 2560 มจร มีนิสิตบรรพชิตออกปฏิบัติศาสนกิจทั่วประเทศ จำนวน1,966 รูปทั่วประเทศ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย หลังนิสิตสอบได้ตามหลักสูตรครบ 4 ปีแล้ว ในปีที่ 5 นิสิตต้องออกปฏิบัติศาสนกิจในเพศบรรพชิตเป็นเวลา 1 ปี (ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.60-วันที่ 30 มี.ค.61) เพื่อช่วยสนองงานในกิจการคณะสงฆ์ และช่วยพัฒนาชุมชนสังคม โดยในช่วงเดือนมีนาคมจะมีการจัดสัมมนาฯเพื่อสรุปผลการดำเนินงานทั่วประเทศเป็นรายภาค และตั้งแต่ปีการศึกษา2559 รุ่นที่ 62 เป็นต้นมา มจร คณะกรรมการปฏิบัติศาสนกิจ โดยมีพระราชวรมุนี,ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต เป็นประธาน ได้กำหนดให้นิสิตปฏิบัติศาสนกิจปฏิบัติงานในรูปแบบของโครงการการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสนองงานคณะสงฆ์ 6 ด้านคือ (1) งานปกครอง(2) งานเผยแผ่ (3) งานศาสนศึกษา (4)ศึกษาสงเคราะห์ (5)งานสาธารณูปการ (6)สาธารณะสงเคราะห์ โดยโครงการจะต้องมีวัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินการ และการประเมินผลที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
พระราชวรมุนี,ดร. กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษ หัวข้อ เรื่อง “การปฏิบัติศาสนกิจกับการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา” ว่า …ตั้งแต่มหาวิทยาลัยมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 จัดการศึกษาทางด้านพระพุทธศาสนา เป็นหลัก และมีการบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ มีคณะต่างๆทั้งครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ตามลำดับ การผลิตบัณฑิตมีคุณภาพ มีลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ซึ่งท่านทั้งหลายทราบดีว่า “ลูกศิษย์ มจร เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วผลผลิตของมหาวิทยาลัยต้อง“วิชายอด จรณะเยี่ยม”โดยเฉพาะนวลักษณ์ 9 ประการของมหาวิทยาลัย ท่านต้องจำและนำไปปฏิบัติเป็นแบบอย่างได้ คือ
(1) ปฏิปทาน่าเลื่อมใส
(2) ใฝ่รู้ใฝ่คิด
(3) เป็นผู้นำด้านจิตและปัญญา
(4) มีทักษะด้านภาษา
(5) มีศรัทธาอุทิศตน
(6) รู้จักเสียสละ
(7) รู้เท่าทันสังคม
(8) สั่งสมโลกทัศน์
(9) พัฒนานวัตกรรมเชิงพุทธ
ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและเจ้าคณะปกครอง ต้องชื่นชมและอนุโมทนากับทุกท่าน ขอให้ท่านได้ภาคภูมิใจสมกับที่ตั้งใจพากเพียรศึกษากันมาจนสำเร็จการศึกษา เป็นบัณฑิต มจร ผมประสงค์ให้ท่านทั้งหลายเป็นไปตามนวลักษณ์อย่างน้อยเน้นการรู้เท่าทันสังคม สร้างนวัตกรรม และมี(1) ความคิดสร้างสรรค์ (2)มุ่งมั่นพยายาม (3) ไม่ห้ามความล้มเหลว (ไม่กลัว) เพราะเราไม่เคยล้มเหลว เพียงแต่ค้นพบวิธีหนึ่งร้อยพันวิธีที่ยังไม่ได้ผล
ท่านจบแล้วสำเร็จการศึกษาแล้วเป็นสินค้าที่ดีจริงหรือไม่ ต้องเหมือนก๋วยเตี๋ยวถ้าอะร่อยถึงอยู่ท้ายซอยคนก็ไปกิน บัณฑิตเราหากมีคุณภาพ เมื่อเขาแต่งตั้งให้เป็นอะไรทำงานก็มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นที่สบายใจของเจ้านาย และเจ้าคณะปกครองของคณะสงฆ์
ส่วนการทำงานต่อยอดกับแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา การมีแผนทำให้เราทำงานเป็นระบบ เป็นระเบียบ มีต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำงานให้ทะลุซอย พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ บุคลากรต้องมีคุณภาพ มีศักยภาพ พระพุทธศาสนาจึงมั่นคง ประเทศไทยเราเป็นรัฐกึ่งศาสนา(Semi Religious State) คณะสงฆ์ไทยอยู่ภายใต้มีพระธรรม-วินัย กฏหมายสงฆ์ กฏหมายบ้านเมือง และจารีตองค์กรสงฆ์เป็นกรอบในการปฏิบัติ
ในครั้งนี้ ท่านทั้งหลายได้สรุปบทเรียนการปฏิบัติศาสนกิจ และการเชื่อมโยงการปฏิบัติศาสนกิจกับการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา มีประเด็นสำคัญที่อยากฝากให้ทุกท่านได้ตระหนักและให้ความสำคัญ คือ (1) คุณภาพของบัณฑิต ซึ่งเป็นผลผลิตของ มจร (นวลักษณ์) (2)ศักยภาพการทำงานในโลกสมัยใหม่ (3) การทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ (แผนงาน โครงการ) และ (4) การปฏิบัติศาสนกิจที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา
พระมหาถวิล กลฺยาณธมฺโม ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและวัดผลกล่าวว่า ขอแสดงมุทิตาว่าทีบัณฑิต มจร รุ่นที่ 63 ทุกรูป ขออนุญาตให้ข้อมูลการสำเร็จการศึกษาและการออกหนังสือรับรองผลการศึกษาตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ทั้งขั้นตอนการขอเอกสารสำเร็จการศึกษา และอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ของทุกท่าน การจะสำเร็จการศึกษาอย่างสมบูรณ์ขอให้ท่านตรวจสอบและรักษาผลประโยชน์ของท่าน ทำตามข้อบังคับและกติกาที่เกี่ยวข้องทำต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำให้สมบูรณ์ด้วยตัวท่านเอง
ในการนำเสนอโครงการต้นแบบของนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ รุ่นที่ 63 ภาคเหนือ พบว่า บัณฑิต มจร ภาคเหนือ มีโครงการเด่น ๆที่เป็นต้นแบบ จำนวน 12โครงการ คือ (1) โครงการพัฒนาระบบการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมในชุมชนบ้านบวกโป่ง ตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ (2) โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านม่วงคำ จังหวัดแพร่ (3) โครงการวิถีพุทธอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ บ้านแม่ส้าน ชุมชนชาวเขาเผ่าปกากะยอ แม่เมาะ ลำปาง (4)โครงการจัดการขยะอย่างยั่งยืนโดยชุมชนบ้านเหล่าสะอาด (5)โครงการส่งเสริมสุขภาพพระภิกษุ-สามเณรในเขตพื้นที่ตำบลดงมหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง เชียงราย (6)โครงการเสริมสร้างสุขภาพทางกายของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่2 จังหวัดลำพูน (7) โครงการชุมชนสุขภาวะ-บ้านป่าแป๋ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง ลำพูน (8) โครงการปลูกป่าด้วยต้นโพธิ์ และไม้มงคล (9)โครงการวัดสะอาดด้วยมือเรา (10) โครงการรัฐศาสตร์อาสาพัฒนาโรงเรียนด้วยค่ายสุขภาวะและค่ายคุณธรรมโรงเรียนบ้านข่อยมิตรภาพที่110 สาขาแม่งาว ลำปาง (11)โครงการรูปแบบการลดพุง ลดโรค ปรับสมดุลเพื่อสุขภาพพระภิกษุ-สามเณร วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย (12) โครงการ”ศีล ทาน ภาวนาเพื่อการพัฒนา จิตใจที่ยั่งยืนและเพิ่มพื้นที่ปลอดอบายมุข”
หลังจากนั้นได้มีการประชุมกลุ่ม 6 กลุ่ม คือ (1)บทบาทพุทธศาสตรบัณฑิตกับงานปกครอง (2) บทบาทพุทธศาสตรบัณฑิตกับงานเผยแผ่ (3)บทบาทพุทธศาสตรบัณฑิตกับงานศาสนศึกษา (4)บทบาทพุทธศาสตรบัณฑิตกับศึกษาสงเคราะห์ (5)บทบาทพุทธศาสตรบัณฑิตกับงานสาธารณูปการ(6)บทบาทพุทธศาสตรบัณฑิตกับสาธารณะสงเคราะห์
การประชุมกลุ่มย่อยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กิจการนิสิตส่วนภูมิภาค ประจำภาคเหนือ ร่วมเป็นวิทยากรประจำกลุ่มเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ร่วมกัน 2 ประการ คือ (1)สิ่งที่อยากพัฒนาสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจของนิสิตในอนาคต 5 ประเด็นสำคัญ ทั้งการสนับสนุนตามแผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (6+1)การสนับสนุนเครือข่าย และการพัฒนาศักยภาพนิสิตปฏิบัติ การสนับสนุนเชิงวิชาการ/การวิจัย การขยายผลและความยั่งยืน และอื่นๆ (2)สิ่งที่อยากให้ปรับปรุง แก้ไข จากการปฏิบัติศาสนกิจ
จากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้มีการยกระดับการปฏิบัติศาสนกิจ 4 ประเด็น ดังนี้ (1) มีการขับเคลื่อนโครงการปฏิบัติศาสนกิจต้นแบบ (2) มีการขับเคลื่อนในระดับนโยบายว่าด้วยการพัฒนาการปฏิบัติศาสนกิจ (3) มีการพัฒนาสื่อและชุดความรู้โครงการ (4) มีเครือข่ายความร่วมมือในการทำงาน
เห็นได้ว่า การสัมมนานิสิตปฏิบัติศาสนกิจในครั้งนี้นิสิตมีโอกาสในการทำงานร่วมกับพระสงฆ์นักพัฒนาและองค์กรภาคีเครือข่าย ส่งผลให้นิสิตได้รับประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายเป็นประโยชน์กับพระพุทธศาสนาและสังคม การที่สังคมโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหานานัปประการ ต้องการองค์ความรู้รอบด้านเพื่อนำมาจัดการกับปัญหาและพัฒนาสังคมโลก รวมทั้งองค์ความรู้พุทธธรรม ที่ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ในการนำมาบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนาการปฏิบัติศาสนกิจ ของ มจร ในอนาคต การที่นิสิตได้เห็นแนวทางในการทำงาน หลายท่านมีกำลังใจ ยืนยันพร้อมทำงานต่อยอดบูรณาการงานตามแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน พระมหาราชัน จิตฺตปาโล กล่าวสรุปในช่วงท้าย