“กองกิจการนิสิต มจร ประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ หวังใช้ปัญญาปฏิบัติและกลไกการดำเนินงานสร้างสังคมสุขภาวะในแนวพุทธธรรม”
วันนี้(6-7พ.ย.62)ที่มจร วังน้อย พระนครศรีอยุธยา พระเทพเวที,รศ.ดร.(พล อาภากโร ป.ธ.9) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มอบหมายให้พระมหาราชัน จิตฺตปาโล,ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
กิจกรรมในวันแรกเป็นการสร้างความคุ้นเคยและทบทวนปฏิทินกิจกรรมการปฏิบัติศาสนกิจ บทบาทการทำงาน และการเปิดโครงการต้อนรับ ทบทวนนโยบาย และเป้าหมายสำคัญร่วมกัน 4 ประเด็นสำคัญคือ (1)กลไกอนุกรรมการปฏิบัติศาสนกิจส่วนงาน(2)การจัดทำแผนปฏิบัติศาสนกิจส่วนงาน(3)โครงการต้นแบบและการจัดทำสื่อ(4)การนิเทศ ติดตามหนุนเสริมนิสิตและการสัมมนานิสิตปฏิบัติศาสนกิจ 4 ภาค
หลังจากนั้นวิทยากรได้นำเข้าสู่กิจกรรมเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรม “สมาธิ คีตอัญชลี คิลปภาวนา”ทีมวิทยากรครั้งนี้ นำโดย ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และคณะ วิทยากรทีมประเมินเสริมพลัง พร้อมคณะทำงานโครงการฯนำโดยมีพระครูพิพิธสุตาทร และคณะทำงานทั้ง 4 ภาค รวมเป็นวิทยากร กระบวนการประชุมวิทยากรเน้นวงจรการเรียนรู้และปฏิบัติการเชิงวิจัยอย่างมีส่วนร่วม ผ่านกิจกรรมและเป้าหมาย ดังนี้
(1)การวิจัยและถอดบทเรียนเสริมพลัง:ปัญญาปฏิบัติและระบบกลไกดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาในแนวทางของ มจร และเป็นผู้ชี้นำปัญญาปฏิบัติการพัฒนาสุขภาวะสังคมในแนวทางพุทธธรรม
(2)การประเมินสภาวการณ์ด้วยบทเรียนและข้อมูลทางหลากหลายในเครือข่าย มจร ในการสร้างผู้นำการเรียนรู้และปฏิบัติการโครงการเรียนรู้ของพระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ
(3)กระบวนการกลุ่มการบูรณาการ เก็บข้อมูล พัฒนาการสื่อสาร เรียนรู้ และผสานปัญญาปฏิบัติด้วยภาพและการสื่อสารพูดคุย
(4) การนำเสนอผลร่วมวิเคราะห์ผู้นำการพัฒนาการเรียนรู้พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ ประสบการณ์และภาพรวมปัญญาปฏิบัติของทุกภูมิภาคและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บูรณาการ เชื่อมโยงสังคมสุขภาวะวิถีพุทธ
(5)กระบวนการกลุ่มพัฒนาทักษะในการเสริมพลังแนวคิด การเรียนรู้ศักยภาพเครือข่าย ผู้นำพระสงฆ์ยุคดิจิดอล ที่สำคัญการใช้เทคนิคการสื่อสารจุลสารสนเทศ Mini content บันทึก รายงาน สร้างความรู้ สื่อสาร และแบ่งปันปํญญา
(6) เปิดพื้นที่เวทีรับฟังความคิดเห็น ฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่ ติดตามผลการขับเคลื่อน ทบทวนนโยบายและเป้าหมายรวม ต่างคนต่างบทบาทและหน้าที่แต่บูรณาการเป้าหมายร่วมกัน
การประชุมครั้งนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ในฐานะคณะทำงานและผู้เข้าร่วมประชุมได้แนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์โดยกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมภาพวาด”อนาคตของชุมชนที่อยากเห็น” เพื่อสร้างวิสัยทัศน์การทำงานที่อิสระและเปิดกว้างทางความคิด จากเดิมที่เคยใช้ SWOT Analysis เครื่องมือวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคเพื่อให้องค์กรสามารถรับรู้สถานะขององค์กร ณ ปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการวิเคราะห์ภายในทำให้รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของเราเอง และการวิเคราะห์ภายนอกองค์กรหรือสภาพแวดล้อม จะทำให้เรามองเห็นโอกาสและอุปสรรคต่อการดำเนินงานได้ เรียกว่า “รู้เขา รู้เรา” การเปิดใจด้วยอนาคตที่อยากเห็นจึงเป็นการหลอมรวมสิ่งที่อยากพัฒนาและเรียนรู้ร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
การประชุมครั้งนี้ถือว่าได้เรียนรู้กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ปัญญาปฏิบัติ เพื่อบ่มเพาะอัจฉริยภาพนวลักษณ์นิสิตได้เห็นเทคนิคและวิธีการวิเคราะห์ปัจจัยดำเนินการและความหมายของกระบวนการบ่งชี้เชิงระบบ (Implication Process Indicator)เพื่อการสร้างผู้นำการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แก่พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจที่จำเป็นต้องใช้ความกว้างขวางเชิงทฤษฎี บูรณาการสหสาขา สหวิทยาการเพื่อเสริมพลังปัญญาปฏิบัติแก่บทเรียนและกิจกรรมดำเนินการต่าง ๆ
โดยที่สุดแห่งการร่วมเรียนรู้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เห็นวิธีการบูรณาการพัฒนาผู้ร่วมเวทีให้ย้อนกลับสู่วงจรดำเนินการโดยสามารถเป็นเครือข่ายปฏิบัติวิจัยอยู่ในตนเองเพื่อกระจายการเข้าถึงพื้นที่โครงการและกิจกรรมดำเนินการ อีกทั้งสามารถยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ การเก็บข้อมูล พัฒนาสื่อ การสื่อสาร (สื่อจุลสารสารสนเทศ) คืนข้อมูล และพัฒนาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสร้างพระนิสิตให้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมสุขภาวะในแนวพุทธธรรม