แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดระบบสวัสดิการและบริการนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา
“แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดระบบสวัสดิการและบริการนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา”
เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2561 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยฯ ได้มอบหมายให้พระมหาราชัน จิตฺตปาโล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต และพระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต เข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง “แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดระบบสวัสดิการและบริการนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ระหว่างวันที่ 12-13 ก.พ.2561 ณ โรงแรมแอบบาสชาเดอร์ กรุงเทพฯ
การนี้ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา มาเป็นประธานเปิดงานและได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า การจัดประชุมสัมมนาฯในวันนี้เพื่อให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดระบบสวัสดิการและการบริการให้แก่ผู้บริหาร อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ที่ประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการพัฒนาระบบสวัสดิการและการบริการนักศึกษา รวมถึงรับทราบปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาระบบสวัสดิการและบริการนักศึกษา โดยมีนายบรรลือ วิศิษฏอนุพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา รายงานวัตถุประสงค์การจัดประชุมสัมมนาต่อประธานเปิดงาน
ประเด็นสำคัญจากการร่วมประชุมสัมมนาในวันแรกมี 3 ประเด็น คือ
1.การอภิปรายหัวข้อ”การจัดระบบสวัสดิการและบริการนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน โดยเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยในกำกับ จากเวทีพบว่า มีประเด็นร่วมและเหมือนกันคือ
(1) บทบาทและหน้าที่ของกิจการนักศึกษา คืองานที่อยู่นอกห้องเรียนทั้งเรื่องทุนการศึกษาทั้งที่เป็นทุนให้ยืม กยศ.หรือทุนขาดแคลน กิจกรรมเสริมหลักสูตร งานจิตอาสา งานหอพัก โรงอาหาร รถรับส่ง นักศึกษาวิชาทหาร ฝึกงาน ศึกษาต่อ สหกิจศึกษา วินัยนักศึกษา งานที่ปรึกษานิสิตที่เป็นมิติด้านการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่วิชาการ
(2) สวัสดิการนิสิตต้องไม่แสวงหาผลกำไร งานบางอย่างมหาวิทยาลัยมอบให้ส่วนงานอื่นนำไปจัดการเป็นการแสวงหาผลกำไรไม่ใช่สวัสดิการ กิจการนิสิตต้องยึดหลักการนี้ ในบางแห่งมีการตั้งส่วนงานเช่นสำนักทรัพย์สินฯ เข้ามาดูแลจัดการแทนเพื่อเป็นแหล่งรายได้ของมหาวิทยาลัยหรือเป็นงานที่ดำเนินการโดยฝ่ายบริหาร
(3)โลกที่เปลี่ยนแปลงและกิจการนิสิตต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและมุ่งผลลัพธ์ของการเป็นส่วนงานสนับสนุนการผลิตบัณฑิตให้เป็นตามนโยบายมหาวิทยาลัย งานกิจการนิสิตวันนี้ต้องทำน้อย ได้มาก มุ่งบรรลุผล ทำงานมุ่งผลลัพธ์ ต้องมีเป้าหมาย
(4) จิตอาสาต้องไม่บังคับ ถ้าบังคับไม่ใช่ แต่ถ้านิสิตมีสิทธิ์เลือกทำถือเป็นจิตอาสา
(5) งานกิจการนิสิตต้องทำงานร่วมกับรองอธิการบดีฝ่ายอื่นหรือกองอื่นอย่างบูรณาการเพื่อให้นิสิตคิดเป็น เรียนรู้เป็น และรับผิดชอบตัวเองได้
(6) เด็กรุ่นใหม่ตัดสินใจเร็วเมื่ออยากเรียนก็เรียน แต่เมื่ออยากหยุด ก็หยุด กิจการนิสิตหรือที่ปรึกษากับคำว่าไม่มีเวลาสำหรับลูกและลูกศิษย์ไม่มีต้องมี ปัจจุบันนิสิตนักศึกษามีปัญหาทางจิตมีมากขึ้น
ประเด็นแตกต่างที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน คือ เอกชนต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าเรียนแล้วมีคุณภาพ มีความสุข มีงานทำ เรียนอย่างสะดวกและปลอดภัย การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่แตกต่างและเป็นทางเลือกเหมาะกับเวลาและบริบท เช่น การใช้ห้องสมุดต้องมีส่วนที่นิสิตใช้แล้วมีความสุข เวลาเปิดปิด วัฒนธรรมการใช้ต้องเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สามารถเรียน เล่น นอน คุยกันได้ด้วยมากว่านั่งเงียบ เอกชนมองปัญหาเป็นโอกาส เช่นชุมชนเสี่ยงภัยยาเสพติดทำให้เกิดตำรวจมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมแชร์แนวปฏิบัติที่ดี เช่น การตั้งกองทุนสวัสดิการนิสิต การดูแลหอพัก การดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การมีกองทุนฉุกเฉิน กองทุนสุขภาพนิสิต ตำรวจมหาวิทยาลัย และการจัดการการประกันกลุ่มโดยมหาวิทยาลัย เป็นต้น
2.พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.2558 และการบริหารหอพักนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นการนำเสนอประเด็นที่ต้องดำเนินการตามกฏหมายและการทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติตามกรอบที่กฏหมายกำหนด ร่วมถึงการแลกเปลี่ยนการบริหารหอพักภายใต้ระบบการดูแลด้วยความเอาใจใส่ทั้งสวัสดิการ สวัสดิภาพ ความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร ประเด็นที่น่าสนใจคือ กิจกรรมนักศึกษาหอพักทั้งเรื่องการปฐมนิเทศ การรณรงค์ความสะอาดหอพัก การประหยัดพลังงาน กิจกรรมสานสัมพันธ์ชาวหอ และจิตอาสา ที่มีประเด็นที่แตกต่างตามบริบทของมหาวิทยาลัย เช่น การใช้ รปภ. ที่ดูแลโดยมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างเข้าใจเข้าถึง การใช้จักรยานของนิสิตในมหาวิทยาลัย การมีตำรวจมหาวิทยาลัยโดยจิตอาสาร่วมกับชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
3.ทุนการศึกษาที่เป็นทุนกู้ยืม ทุนขาดแคลน จากแหล่งทุนต่างๆ ที่สำคัญการดำเนินการกู้ยืมตาม พรบ.กยศ 2560 ที่กำหนดวัตถุประสงค์กว้างมากขึ้น และมีระเบียบเป็นกรอบในการดำเนินการ 6 ฉบับ (ดูเพิ่มเติมเว็บกยศ) นอกจากนั้นยังมีประเด็นการวางแผนการออมใช้เงินแบบวางแผนเกษียนสุขกับ กอช. โดยมี 3 ประโยชน์ คือบำนาญตลอดชีพ คุ้มครองเงินต้น ดอกผลค้ำประกัน และลดหย่อนภาษี เป็นการเรียนรู้การออมทางการเงินเบื้องต้นสำหรับผู้มีอายุ 15-60 สัญชาติไทย ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการบำเหน็จบำนาญอื่นของรัฐ และผู้ประกันตน ม.40 ทางเลือก 1