“หมอประเวศ หารือ มจร ผนึกกำลัง คณะสงฆ์ สสส. สช. และสปสช. หาแนวทางสนับสนุนบทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะประเทศไทย”
วันนี้ (2 ต.ค.2561) เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุม 401 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระราชวรมุนี,ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต และรองเจ้าคณะภาค 6 เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางสนับสนุนกระบวนการพัฒนาการทำงานบทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะประเทศไทย จัดโดยสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ(สสส.)
การประชุมมีผู้แทนคณะสงฆ์และผู้บริหาร มจร เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เช่น พระเทพสุวรรณเมธี รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร พระมงคลวชิรากร เลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม พระสุธีรัตนบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ เป็นต้น
การสำคัญนี้มีศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ให้เกียรติบรรยายพิเศษ หัวข้อ”สุขภาพพิเศษ –สุขภาพองค์รวม สู่ประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมประชุม เช่นศาสตราจารย์นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทันตแพทย์ ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น
พระราชวรมุนี กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมว่า… ช่วงนี้คณะสงฆ์มีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา มีการจัดทำแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (พ.ศ.2560-2564) โดยแผนดังกล่าว มีประกอบด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6+1 ได้แก่ ด้านการปกครอง ด้านศาสนศึกษา ด้านศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่ ด้านสาธารณูปการ และด้านสาธารณสงเคราะห์ โดยร่วมงานพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็น ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกด้วย ประกอบกับ มจร มีพันธกิจ 4 ด้าน คือ ผลิตบัณฑิต วิจัยและพัฒนา ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม และ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
แนวทางการสนับสนุนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมโดย มจร และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตามกรอบแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา บนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ มีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง อาจนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบายและการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตได้ พระราชวรมุนี กล่าว
หลังจากนั้น พระเทพสุวรรณเมธี ได้กล่าวถึงการทำงานของคณะสงฆ์และคิลานธรรม พระมงคลวชิรากร กล่าวถึงการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พระสุธีรัตนบัณฑิต ได้กล่าวถึงกระบวนการวิจัยเพื่อการพัฒนาสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้เห็นภาพหรือบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะในปัจจุบันทีมีการขับเคลื่อนทั่วสังฆมณฑลในปัจจุบันภายใต้การสนับสนุนขององค์กรภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีการสนับสนุนการทำงานของพระสงฆ์มานานโดยลำดับ
หัวใจสำคัญในการหารือครั้งนี้ คือ การบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส หัวข้อ “สุขภาพพิเศษ –สุขภาพองค์รวม สู่ประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นหลักการและฐานคิดสำคัญในการหาแนวทางการสนับสนุนบทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะประเทศไทยในวันนี้
มีสาระสำคัญโดยสรุปว่า พระพุทธศาสนากับระบบสุขภาพ พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกันกับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย สุขภาพถ้วนหน้า (Health For All) คือ ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม การที่สุขภาพของคนทั้งมวล หรือประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม จะเป็นไปได้ต้องคิดถึงระบบสุขภาพแบบบูรณาการหรือสุขภาพองค์รวม (Holistic Health) นิยามสุขภาพเดิม คือการไม่มีโรค แต่หากพูดถึงสุขภาพบูรณาการหรือสุขภาพองค์รวม (Holistic health) เราจะใช้อะไรเป็นนิยามสุขภาวะ เพราะนิยามแบบเก่าไม่คลอบคลุม นิยามใหม่ สุขภาพ คือดุลยภาพ ถ้ากายใจมีดุลยภาพ ก็มีความเป็นปรกติ หรือสุขภาพดีและอายุยืน ความไม่สบายหรือสุขภาพไม่ดีทุกชนิด คือการเสียสมดุล
จะเห็นได้ว่า สุขภาพคือทั้งหมด (Health is the whole และสุขภาพองค์รวม (Holistic health) นึกถึงการฟังเพราะสวดพระอภิธรรม อะวิชชาปัจจะยา สังขารา สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง นามะรูปะปัจจะยา ฯลฯ ถ้าใครฟังออกแล้วรู้ความหมายจะเห็นความเชื่อมโยง หรือบทสวดโพชฌงคปริตร หรือคิริมานนท์หายป่วยเมื่อได้ฟังสัญญา 10 ประการที่พระพุทธองค์ประทานให้พระอานนท์ไปสาธยายให้ฟัง สัญญา 10 ประการนี้ ต่อมารู้จักกันในชื่อ คิริมานนทสูตร ทั้งหมดมีในพระพุทธศาสนา สุขภาวะเกิดจากความบรรสานสอดคล้อง (harmony) สมดุลของชีวิตที่ประกอบด้วยกายและใจ 4 มติ คือ กาย จิต สังคม ปัญญา
การปฏิบัติการและการสนับสนุนระบบสุขภาพบูรณาการ เป็น 3 วง วงในสุด สุขภาพบูรณาการ กาย –จิต-สังคม –ปัญญา วงที่ สอง การปฏิบัติ/ผู้ปฏิบัติ ประกอบด้วย การดูแลตนเอง ระบบสุขภาพชุมชน พยาบาลชุมชน และผู้ช่วยพยาบาลชุมชน ศูนย์การแพทย์แผนไทย โรงพยาบาล องค์กร เทคโนโลยีการสื่อสาร-สุขภาพออนไลน์ และวงที่ 3 คืองานหรือองค์กรที่จะสนับสนุนสุขภาพบูรณาการ สุขภาพจิตที่ดีสำหรับคนทั้งมวล องค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้องและเห็นความสำคัญของสุขภาพบูรณาการ ควรรวมตัวกันเป็นภาคีเพื่อขับเคลื่อนสุขภาพองค์รวม โดยที่ความต่อเนื่องของภาคีเพื่อสุขภาพบูรณาการ คือปัจจัยของความสำเร็จ หมอประเวศกล่าวสรุปในตอนท้าย
หลังจากนั้นได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางผลักดันบทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะผ่านประสบการณ์การทำงานของภาคีเครือข่าย ดำเนินรายการโดย นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ โดยผู้แทนคณะทำงาน เช่น การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ การลดปัจจัยเสี่ยง สังฆพัฒนาวิชาชาลัย นิสิตธรรมทายาท คิลานธรรม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ผ่านเครื่องมือที่เหมาะสม เช่น สมัชชาสุขภาพ และก่อนประธานจะกล่าวสรุปศาสตราจารย์นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ได้สรุป 3 ประเด็นสำคัญ คือ (1) ทำงานต้องโฟกัส จึงจะเป็นการทำงานที่มีพลัง โดยให้น้ำหนักและความสำคัญไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน การวางพื้นฐานจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญ (2) การสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันด้านวิชาการ พัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ประเด็นวิจัยเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์พระกับคฤหัสถ์หรือโยม ชาวบ้านไปวัดเพื่ออะไร และวัดสนองอะไรชาวบ้าน สนองชาตินี้หรือ ชาติหน้า (3) ใช้ ICT เพื่อการสื่อสารงานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อปฏิสัมพันธ์ 2 ทาง ส่งเสริมสุขภาพออนไลน์ทุกมิติ ทุกเรื่องราว
บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะประเทศไทย การใช้กรอบ “แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เป็นแนวทางโดยใช้กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ผ่านเครื่องมือที่เหมาะสม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายและกว้างขวางบนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ โดยมีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบายและการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต เพื่อสุขภาพถ้วนหน้า คือ ประโยชน์สุขแห่งมหาชน