มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

นโยบายสู่การปฏิบัติ : นิสิตปฏิบัติศาสนกิจ นิสิตธรรมทายาทเพื่อสังคม

“นโยบายสู่การปฏิบัติ : นิสิตปฏิบัติศาสนกิจ นิสิตธรรมทายาทเพื่อสังคม”

วันนี้ (2ต.ค.2561) พระมหาราชัน จิตฺตปาโล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต และพระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต ร่วมประชุมแนวทางผลักดันบทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะประเทศไทย มีพระราชวรมุนี,ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต เป็นประธาน

การนี้ผู้อำนวยการได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางผลักดันบทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะผ่านประสบการณ์การทำงานของภาคีเครือข่าย เสนอในนามผู้แทนคณะทำงาน

จากนโยบายสู่การปฏิบัติ : การปฏิบัติศาสนกิจของนิสิต ต้องทำเป็นโครงการ ที่มีวัตถุประสงค์ มีวิธีการดำเนินการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่วัดได้ประเมินได้ มีการจัดการความรู้ และส่งไม้ต่อจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง โดยส่งนิสิตลงไปทำงานในพื้นที่ช่วยงานคณะสงฆ์และช่วยพัฒนาสังคม นโยบายและประเด็นสำคัญที่พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. อดีตอธิการดีกล่าวมอบไว้

การขับเคลื่อนและพัฒนากระบวนการทำงานภายใต้การกำกับและสั่งการของพระราชวรมุนี,ดร.รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ได้มีการมอบหมายและสั่งการมาโดยลำดับนับตั้งแต่ปี2557 เป็นต้นมาเมื่อคราวท่านดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตสมัยแรก ผ่านกลไกการประชุมการศึกษาวิจัยโครงการนิสิตธรรมทายาทเพื่อสังคม เพื่อนำร่องและค้นหาโครงการปฏิบัติศาสนกิจต้นแบบ โดยการสนับสนุนของ สสส. มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีผู้ร่วมก่อการดีหลายท่าน

วันนี้การปฏิบัติศาสนกิจของนิสิตกำหนดให้นิสิตปฏิบัติศาสนกิจประมาณ 2,000 รูป ต้องปฏิบัติศาสนกิจในรูปแบบของโครงการเพื่อสนองงานคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้าน คือปกครอง เผยแผ่ ศาสนศึกษา ศึกษาสงเคราะห์ สาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์ ตามมติคณะกรรมการฯ มีพระราชวรมุนี เป็นประธาน และกำหนดให้มีกิจกรรมปฐมนิเทศเพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ มีการติดตามและพัฒนาโครงการเพื่อหนุนเสริมพื้นที่ มีการรายงานผลการปฏิบัติ 2 ครั้ง มีการถอดบทเรียนเพื่อจัดการความรู้ผ่านโครงการสัมมนานิสิตปฏิบัติศาสนกิจประจำภาค และนำระบบปฏิบัติศาสนกิจออนไลน์มาใช้สนับสนุนในการปฏิบัติงาน

แน่นอน…กรุงโรมไม่ได้สร้างวันเดียว จึงมีหลายอย่างที่ต้องปรับปรุงและพัฒนา ทั้งการใช้รูปแบบการพัฒนาศักยภาพระดับบุคคลโดยหนุนเสริมจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดกลุ่มเป้าหมายที่มีพลัง รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดเครือข่าย และการทำงานด้านวิชาการเพื่อพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมเพื่อหนุนเสริมให้การปฏิบัติศาสนกิจของนิสิต นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลาย และกว้างขวางบนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ และเป็นการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ท้ายสุดของคำตอบเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย และพุทธพจน์ที่ว่า “…จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ…”แปลว่า “เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์..”