มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สัมมนานิสิตปฏิบัติ รุ่น 65 ภาคใต้ พบนิสิตพร้อมต่อยอดทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาและช่วยเหลือสังคม

1,190

ระหว่างวันที่ 11-12 ก.พ.2563  ที่สวนยินดีทะเล ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับมอบหมายจากพระเทพเวที,รศ.ดร. (พล อาภากโร ป.ธ.9) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร ดำเนินการจัดสัมมนานิสิตปฏิบัติศาสนกิจ รุ่นที่ 65 ประจำภาคใต้ การนี้มีพระมหาราชัน จิตฺตปาโล,ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต เป็นประธาน ท่านได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานการปฏิบัติศาสนกิจของนิสิตประจำส่วนงาน กล่าวให้โอวาท และเปิดงาน การนี้มี รก.รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร วส.สุราษฎร์ธานี กล่าวรายงานและกล่าวให้กำลังใจในฐานะเจ้าภาพร่วมจัดสัมมนาฯ

หลังจากนั้น เจ้าของสวนยินดีทะเล คุณแม่ยินดี สุขสด ได้กล่าวต้อนรับปฏิสันถารและกราบยินดีที่คณะสงฆ์ ได้มาจัดกิจกรรมที่นี่พร้อมปวารณาถวายภัตตาหารเช้า-เพลและที่พัก ซึ่งกิจกรรมในวันนี้มีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ เรื่อง “นิสิตปฏิบัติศาสนกิจกับการปฏิรูปรูปกิจการพระพุทธศาสนา” โดย พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิตเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นความเชื่อมโยงถึงการปฏิบัติศาสนกิจว่ามีส่วนกับการสนองงานคณะสงฆ์อย่างไร และการพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์กับการเข้าถึงกองทุนหลักประกันเพื่อสร้างองค์กรสุขภาวะสู่ชุมชนสุขภาวะด้วย

เริ่มต้นโดยกล่าวถึงความเป็นมาของแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา การจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ และการดำเนินการตามพันธกิจของ มจร และเชื่อมโยงถึงการดำเนินการโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยการสนับสนุนของ สสส. นอกจากนี้ยังถวายข้อมูลเพื่อให้เห็นความสำคัญถึงการพัฒนากลไกประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มการรับรู้และการเข้าถึงบริการสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดย สปสช.

ในช่วงบ่าย มีการประชุมกลุ่มย่อย5 กลุ่มเพื่อร่วมถอดบทเรียนและร่วมออกแบบภาพอนาคตที่อยากฝันร่วมกันใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ (1) แผนงานการปฏิบัติศาสนกิจที่อยากเห็น ภายใต้หลักองค์กรสุขภาวะสู่ชุมชนสุขภาวะ 5 มิติสำคัญ คือ กาย จิต สังคม ปัญญา และสิ่งแวดล้อม(2) วิธีการดำเนินการเพื่อให้ความฝันประสบความสำเร็จภายใต้ กลไก ข้อมูล ความร่วมมือ งบประมาณ และการสร้างจิตอาสา

ภายหลังจากที่นิสิตได้ระดมความคิดเห็นและได้ข้อสรุปร่วมกันถึงแผนงานก้าวต่อไปที่ดีในมุมมองของนิสิตรุ่น 65 ประจำภาคใต้ ซึ่งแต่ละกลุ่มได้ตกผลึกและนำมาเป็นประเด็นและใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกัน พบว่า มี 5 แผนงานสำคัญ คือ(1)ห้องสมุดธรรมสัญจร (2) ศาสนาทายาทประชาธรรมสานฝันด้วยจิตอาสา (3) เยี่ยมผู้ป่วยด้วยธรรมะ (4) อาวาสสุดท้ายเพื่อสงฆ์ (5) ปลูกป่าคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ นิสิตได้นำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยได้อย่างน่าสนใจ มีโครงการหรือกิจกรรมที่คิดเป็นแผนงานและมองงานเป็นภาพรวมมากขึ้น ที่สำคัญนิสิตได้เสนอวิธีการดำเนินการที่หลากหลายมีกลไก การจัดทำข้อมูลเพื่อการดำเนินงาน การกำหนดองค์กรหรือหน่วยงานความร่วมมือ มีความหลากหลายของที่มาของงบประมาณซึ่งมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน รวมถึงการสร้างทีมจิตอาสาและทีมแกนนำอย่างเป็นระบบ

เติมเต็มประเด็นคมชัดลึกสุดแหลมคมจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือพระครูพิพิธสุตาทร,ดร. อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย วข.เชียงใหม่ ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการทำงานเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อนิสิตว่าทีบัณฑิตเป็นอย่างมากทั้งเรื่องของการกำหนดกลไกในการทำงาน การทำงานบนฐานของข้อมูล การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับส่วนงานที่ตรงกับแผนงาน แหล่งงบประมาณและการบูรณาการทรัพยากรร่วมกันที่สำคัญคือการทีมแกนนำ ทีมจิตอาสาโดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของแผนงานหรือโครงการกิจกรรมที่กำหนดต้องมีความสัมพันธ์กันตามบทบาทและหน้าที่ โดยปลายทางของคำตอบของแผนงานคือ ผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน

วันนี้( 12 ก.พ.2563 ) 09.00-10.00 น. ที่สวนยินดีทะเล กิจกรรมการบรรยาย หัวข้อเรื่อง “Mindset บัณฑิต มจร พลังการทำงานและจิตวิญญาณเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม” โดยอาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม ลูกชายคุณแม่ยินดี สุขสด จบการศึกษาปริญญาโทจากอเมริกา ท่านเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มที่ท่านได้เข้ามาสู่พระพุทธศาสนาว่า ท่านทำธุรกิจหลายอย่าง แต่มีความทุกข์เพราะปัญหาทางธุรกิจ แต่เมื่อมีโอกาสได้ปฏิบัติธรรม ทำให้รู้จักและเข้าใจความทุกข์ตามนัยของพระพุทธศาสนา จึงมีคำถามมากมายเช่นทุกข์มาจากเราหรือจากที่ไหน พระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสรู้อะไร ต่อมาเมื่อมีโอกาสได้รู้จักและปฏิบัติธรรม ได้ธรรมะเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ และชัดเจนว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า คนจริง จึงจะได้ของจริง ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้บวช ได้รู้จักกรรมฐาน หลายท่านคงเคยได้ยินหนังสือ ชื่อ “ดูจิต 1 พรรษา” ในช่วงที่บวช ไม่ได้ตั้งใจที่จะพิมพ์เป็นหนังสือ แต่มีคนขอเอาสิ่งที่พูดไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ
 
หลังจากนั้นได้สึกออกมาและมีโอกาสทำงานเผยแผ่ ท่านได้เล่าถึงการทำงานของสวนยินดีทะเล เช่น การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่บังกลาเทศ ทำไมจึงไปบังกลาเทศ ประเทศมุสลิม ก่อนหน้านี้ 90 % เคยเป็นพุทธ หากใช้บังกลาเทศโมเดลกับไทย ก็น่าคิดอยู่ จึงคิดไปฟื้นฟูและเริ่มจากการไปทอดกฐินสร้างวัดจากสังกะสีจนเป็นวัดทำมาแล้วหลายปีร่วมกับญาติธรรม ครั้งหนึ่งเห็นพระพุทธรูปถูกตัดเศียรที่นั่นจึงคิดไปสร้างพระพุทธรูปและศาสนสถานใช้เวลา3ปีจึงเสร็จ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปนำไปจากเมืองไทยจำนวนมาก 47 องค์กว่า และคิดต่อว่า ศาสนาพุทธในบังกลาเทศจะแข็งแรงได้จะต้องเปิดประตูสู่ปัญญา จึงเกิดโครงการเปิดประตูปฏิบัติธรรมที่แผ่นดินบังกลาเทศโดยเริ่มจากต้นทุนโครงสร้างและบทบาทของวัดในการดำเนินการขับเคลื่อนมาโดยลำดับ
 
นอกจากนี้ท่านได้เล่าถึงโครงการกิจกรรมในประเทศไทยคือการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาสู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เริ่มจากเห็นความยากลำบากของพระจึงคิดถวายตู้ยา ถวายตู้พระธรรม MP3 เพื่อเผยแผ่ธรรมะ ถวายปัจจัยช่วยเหลือพระ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้จัดโครงการสร้างพระผู้นำใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ทำการบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการทอดกฐินวัดตกค้าง 50วัดๆละ30,000 บาท ตั้งแต่ 2557 เป็นต้นมา การบรรยายสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมให้กับพระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจได้เป็นอย่างดี

ช่วงพิธีปิดได้รับเมตาจากพระครูสุนทรพจนบัณฑิต,รศ.ดร. เจ้าคณะอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เมตตาเป็นประธานมอบโล่และเกียรติบัตรผู้อุปถัมภ์โครงการ นิสิตปฏิบัติศาสนกิจที่ผ่านการสัมมนาฯท่านได้กล่าวให้โอวาทก่อนปิดตอนหนึ่งว่า .. เราเป็นว่าที่บัณฑิตแล้วต้องรู้ถูก รู้ผิด รู้ดี รู้ชั่ว และรู้ชอบ จะเป็นบัณฑิตแบบไหนอยู่ที่เราเลือกที่จะเป็น อย่างไรให้ใช้แนวทางตามหลักไตรสิกขาในการใช้ชีวิต…คือป้องกันกายวาจ ป้องกันจิตใจ และรักษาชีวิตของเราให้อยู่รอดปลอดภัย…ขออนุโมทนาและขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง