มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระธรรมทูตสายต่างประเทศ: พลังการทำงานและจิตวิญญาณเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม

1,419

“พระธรรมทูตสายต่างประเทศ: พลังการทำงานและจิตวิญญาณเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม”

วันนี้ (5พ.ค.62) เวลา 18.30-20.30 น.ที่เธียร์เตอร์ โซน D อาคารเรียนร่วม มจร พระนครศรีอยุธยา พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มจร ได้รับโอกาสจากพระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ได้มอบหมายให้บรรยายพิเศษ หัวข้อเรื่อง”พระธรรมทูต: พลังการทำงานและจิตวิญญาณเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม” แก่พระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 25 จำนวน 113 รูป

ในการบรรยายได้เชิญชวนให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทบทวนถึงสถานการณ์ภาพรวมความเคลื่อนไหวของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และได้ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและเป้าหมายของชีวิตที่เกิดมาและได้ร่วมชื่นชมกับกิจกรรมภาคต่าง ๆ ที่ผู้เข้ารับการอบรมได้ผ่านมา ทั้งภาควิชาการ ภาควิปัสสนากัมมัฏฐาน ภาคการศึกษาดูงาน ณ แดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ซึ่งได้ผ่านการฝึกฝนตามกระบวนการและแสดงให้เห็นชัดถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของความเป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง

หลังจากนั้นได้ใช้กรณีตัวอย่างบทบาทสมมุติโดยมีบททดสอบเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ใช้เทคนิคและวิธีการโค้ชโดยมีบททดสอบให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ฟังอย่างมีสติและสมาธิ การฟังเรื่องที่เสียใจที่สุดในชีวิตของเพื่อน AกับB โดยAเป็นผู้เล่า Bเป็นผู้ฟังและให้ฟังให้เข้าใจความรู้สึก เมื่อเล่าเสร็จแล้วก็ให้สงบนิ่งอยู่กับปัจจุบัน1นาทีและให้Aสะท้อนความรู้สึกร่วมกับBผู้เล่า เพื่อกระตุ้นผู้เข้าการอบรมได้ค้นพบศักยภาพและนำตนเองไปสู่เป้าหมายด้วยตัวของเขาเองโดยไม่ชี้นำ

กิจกรรมดังกล่าวได้เชิญชวนให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะการฟังว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการโค้ช ฟังที่สำคัญ คือการฟังเชิงรุก การฟังด้วยสติและสมาธิโดยการฟังมี 6 ประเภท คือ(1)การฟังเพื่อประเมิน(2)การฟังเพื่อตีความ (3)การฟังเพื่อแนะนำ(4)การฟังเพื่อสรุปความ(5)การฟังเพื่อเข้าใจความรู้สึก(6)การฟังเพื่อหาศักยภาพ

นอกจากนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของพระธรรมทูตสายต่างประเทศ โดยได้เชิญชวนให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ผ่านองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์และทัศนคติของพระสงฆ์นักพัฒนาที่ท่านมีพลังการทำงานและจิตวิญญาณเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมเพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ต้องยึดโยงกับชุมชนและสังคม รวมถึงได้แลกเปลี่ยนและมุมมองการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของกลุ่มประเทศเถรวาทและมหายานผ่านการศึกษาดูงานและเข้าร่วมกิจกรรมของผู้บรรยาย

ต่อจากนั้นได้กำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รวมกลุ่มกันกลุ่มละ 10 ท่านเพื่อระดมความคิดเห็นภายใต้โจทย์คำถามสำคัญว่า ภายหลังที่ผ่านการฝึกอบรมและเป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศแล้วอยากทำโครงการเผยแผ่อะไร 5 ประเด็นสำคัญ ได้ (1)ชื่อโครงการ (2) หลักการและเหตุผล (3) วัตถุประสงค์ (4) วิธีการดำเนิน (5) เป้าหมาย 3 ระดับ ได้แก่ ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ

อย่างไรก็ตามในการระดมความคิดเห็นได้กำหนดกติกาในการระดมความคิดเห็นและรูปแบบในการนำเสนอที่สะท้อนทักษะของการทำงานเป็นทีม และจากการระดมความคิดเห็นและนำเสนอ พบว่า แต่ละกลุ่มได้นำเสนอโครงการที่น่าสนใจ โครงการมีการกำหนดวัตถุประสงค์และรูปแบบและวิธีการดำเนินการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมีความหลากหลายทางความคิดและเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง

Cr. ขอบคุณภาพจากวิทยาลัยพระธรรมทูต มจร