“อธิการบดี มจร เปิดงานสัมมนานิสิตปฏิบัติศาสนกิจ รุ่น 64 ภาคกลาง เชื่องานบริการวิชาการ มจร ต้นแบบงานเพื่อสังคม”
วันนี้ (18มี.ค.62) เวลา 09.00 น. ที่ อาคาร มวก.48 พรรษา พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร.อธิการบดี เป็นประธานเปิดงาน และบรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทบัณฑิต มจร กับการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม” ท่านได้กล่าวถึงการบริการวิชาการของ มจร ทั้งส่วนงานที่จัดการศึกษาและสนับสนุน ทั้งนี้ท่านได้กล่าวถึงงานบริการวิชาการซึ่งดำเนินการโดย3ส่วนงานสนับสนุนในส่วนกลางได้แก่(1)กองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี(2)สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนา(3)สถาบันวิปัสสนาธุระ รวมถึงการสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่ดำเนินการโดยสำนักงานพระสอนศีลธรรมด้วย
ท่านเน้นย้ำให้เห็นผลการดำเนินงาน 6 งานบริการวิชาการสำคัญว่ามีคุณูปการต่อคณะสงฆ์และเป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก คือ
(1) งานเผยแผ่ธรรมะทางวิทยุ-โทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต
(2) ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
(3) พระสอนศีลธรรม
(4) บรรพชา และอบรมเยาวชน
(5) นิสิตปฏิบัติศาสนกิจ
(6) พระธรรมจาริก
ท่านได้กล่าวถึงนโยบายและความคิดเกี่ยวกับงานทั้ง 6 งาน โดยสรุปเป็นสาระสำคัญ ดังนี้
(1) งานเผยแผ่ มจร-ปัจจุบันมีการเพิ่มช่องทางและสร้างช่องทางนำธรรมะสู่ประชาชนเพิ่มขึ้นทั้งธรรมะทางวิทยุ-โทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ผ่าน MCU TV, MUC IT, MCU Facebook มีการขยายผลไปสู่ส่วนภูมิภาค ผลิตเนื้อหาไม่ทัน อาจต้องมีการช่วยพัฒนาเนื้อหาสาระและวิธีการในการนำเสนอ ปัจจุบัน MCU TV ได้ดำเนินการใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ การจัดผังรายการโดยมีส่วนงาน มจร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วม,มีทีมงานลงทำถ่ายทำและจัดทำรายการในพื้นที่ร่วมถึงได้มีการให้องค์ความรู้กับส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถผลิตเอง และมีการสนับสนุนทรัพยากรที่เกี่ยวข้องร่วมถึงมีนโยบาย การสั่งการ กำกับ ดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด ด้วยสถานะ บทบาทและภาพลักษณ์ที่มี เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จและเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้
(2) บริการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มจร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้จัดบริการวิชาการการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันสำคัญของชาติ เป็นการบริการวิชาการในด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับผู้สนใจโดยทั่วไปในอนาคตจะให้บริการในลักษณะเป็นเชิงบูรณาการกับศาสตร์ต่าง ๆ เป็นหลักสูตร เช่นอาจจะตั้งชื่อหลักสูตรว่าเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานของผู้บริหารองค์กรระดับสูง วิทยากรทั้งในส่วนวิชาการและภาคปฏิบัติมีลักษณะเฉพาะและเก็บค่าบำรุงตามสมควร
(3) พระสอนศีลธรรม มีการดำเนินการมามีความมั่นคงและยั่งยืนในระดับเป็นที่น่าพอใจโดยมีส่วนงาน คือ สำนักงานพระสอนศีลธรรม มีคณะกรรมการกำกับดูแล และมีศูนย์ดูแลในส่วนภูมิภาค เป็นส่วนสำคัญที่พวกเรามีส่วนทำให้ มจร มีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้น ปัจจุบันมีการพัฒนาศักยภาพของพระสอนศีลธรรมในเรื่องเทคนิคและวิธีการสอน Active Learning และการจัดทำการจัดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อการสอนโดยเฉพาะ เพิ่มและเติมในส่วนของความรู้เกี่ยวกับรายวิชาที่มีความจำเป็นและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและวิธีการสอนที่น่าสนใจ เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มในกิจกรรมการเรียนการสอนศีลธรรมในโรงเรียน
(4) บรรพชาและอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน จากข้อมูลการสรุปตัวเลขของกองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี ได้นำมาใช้ในเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในงาน ครบ 130 ปี มจร ปรากฏในสูจิบัตรในส่วนงานบริการวิชาการ พบว่ามีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ครบทุกมิติ แต่น่าเสียดายที่ผลการดำเนินการที่มีคุณค่าและประโยชน์มหาศาลต่อสังคมอย่างนี้ ไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ส่วนตัวเมื่อมีโอกาสจะนำไปสื่อสารทุกช่องทาง ทุกเวที และข้อมูลส่วนนี้ได้นำไปลงไว้ในเอกสาร “นโยบายและทิศทางของ มจร” เมื่อคราวรับตำแหน่งอธิการบดี การจัดบรรพชาและอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน มีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปจำนวนกว่า 100,000 คน มีจำนวนแต่ละปีมากกว่า 400 หน่วยอบรม มีการใช้ทรัพยากรและงบประมาณในส่วนของ มจร เข้าใจว่าไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่ใช้งบประมาณจริงในแต่ละปีซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมมากกว่า 60 ล้านบาท ด้วยเป็นในช่วงปิดภาคเรียนโครงการจึงมีส่วนช่วยดูแลลูกหลานแทนพ่อแม่ผู้ปกครอง ช่วยส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอบรมกล่อมเกลาเด็กเยาวชน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในสังคม สภาพแวดล้อมที่ดีช่วยแก้ปัญหายาเสพติดและอบายมุขในชุมชน นับว่าเป็นประโยชน์และคุณูปการต่อสังคมอย่างมาก
(5) นิสิตปฏิบัติศาสนกิจ กองกิจการนิสิต ได้มีการยกระดับและพัฒนามาโดยลำดับมีการกำหนดให้จัดทำเป็นโครงการเพื่อสนองานกิจการคณะสงฆ์ แม้ทุกท่านจะทำตามข้อบังคับแต่ก็ถือเป็นบุญกุศล ช่วยดูแลพิจารณาพระที่จะไปรักษาวัดต่าง ๆ ที่ต้องการบุคลากรหรือศาสนทายาทไปสืบต่อรักษาวัด ต้องมีจิตอาสา หายาก ในส่วนของการศึกษานักธรรมบาลียังมีคนที่สนใจอยู่ หากท่านยังมีใจอยู่ในสมณะมีความคุ้นเคยในสถานที่ที่ปฏิบัติศาสนกิจก็ขอให้กลับไปสานต่อ ปัจจุบันอยู่ในกรุงเทพฯหรือบ้านนอกก็คงไม่ต่างกัน
(6) พระธรรมจาริก การทำงานในเชิงรุกหรือจิตอาสาในพื้นที่เฉพาะเคยติดตามพระพรหมบัณฑิต ต้องขอบคุณพระเทพโกศล วัดศรีโสดา เมื่อมจร มี พรบ. มีสถานะที่มั่งคงก็รับเรื่องนี้มาดำเนินการและจัดสรรงบประมาณ ไม่นานนี้ได้ไปตรวจเยี่ยมบัณฑิตอาสา มี 35 อาศรม มจร มีแนวทางในการต่อยอดและขยายผล เช่น โครงการพระบัณฑิตอาสาพัฒนาสันติสุขในชายแดนภาคใต้ โครงการพระบัณฑิตอาสาให้การศึกษาแก่ชุมชน รวมถึงการโครงการเพื่อการสังเคราะห์อนุเคราะห์ผู้พิการและผู้สูงอายุ
ทั้งหมดนี้ เป็นเวที ที่ มจร ได้แสดงบทบาทและสถานะในการให้บริการวิชาการ ในส่วนอื่นที่ มจร มีส่วนในการเกี่ยวข้อง เช่น การดำเนินการเพื่อรองรับการมีพระราชบัญญัติพระปริยัติธรรม,โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ด้วยกิจกรรม 5 ส.,การพัฒนาหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.),โครงการหมู่บ้านรักษาศีลหรือในอดีตเช่นโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดิน ชื่ออาจแตกต่างกันไปแต่มีเป้าหมายเดียวกัน อาจจะขาดความต่อเนื่องและความชัดเจน ต่อไปด้วยความร่วมมือของ 2 แรงสำคัญของทางการ และ มจร คงทำให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง อาจมีโครงการและกิจกรรมในลักษณะนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ด้วย 3 พลังประสาน คือ กองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี,สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม และสถาบันวิปัสสนาธุระ และนโยบาย 3 อย่างที่ได้เน้นและให้ความสำคัญ MCU FOCUS คือ (1) Leranning Community (ชุมชนแห่งการเรียนรู้) (2) Academic Service (บริการวิชาการแก่สังคม) (3) Buddhist Innovention for Mental and Social development
เมื่อนำงานบริการวิชาการดังกล่าวมาปรับสถานะ ทิศทาง เชื่อมโยงการทำงานให้ครอบคลุมให้ครบทุกมิติมากขึ้น จัดวางรากฐานเป็นแนวทางในการดำเนินงานทั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ โครงการกิจกรรม ใส่งบประมาณและดำเนินการให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายและพันธกิจของมหาวิทยาลัย มาดูแลให้เป็นระบบระเบียบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เชื่อว่าการทำหน้าที่ตามสถานะ บทบาท และภาพลักษณ์ที่เป็นเพื่องานบริการวิชาการเชื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์ สังคมและประเทศชาติขออนุโมทนาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สรุปประเด็นโดย : พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต